ปตท. เปิดใจเคลียร์ปมร้อนข้อกล่าวหาผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้บริหาร ปตท. ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เปิดใจ เคลียร์ปมร้อน ข้อกล่าวหาผู้ตรวจการแผ่นดิน



• จากประเด็นที่ นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า มีอดีตประธาน บมจ.ปตท. เขียนจดหมายข่มขู่ส่วนตัวถึงตน ซึ่งมีเนื้อหาขอให้หยุดหาเรื่องตรวจสอบ ขุดคุ้ยประเด็นของ บมจ.ปตท. คืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบ ทาง บมจ.ปตท. ได้ทำการตรวจสอบดูแล้วไม่พบว่ามีใครกระทำในลักษณะเช่นที่กล่าวมา หรืออาจจะตรวจสอบดูไม่หมดก็ได้ เพราะที่ผ่านมา ปตท. มีประธานกรรมการหลายคน แต่สิ่งที่ตรวจพบคือ จดหมายอย่างเป็นทางการจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ซึ่งในขณะนั้นคือ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นจดหมายชี้แจง ว่า บมจ.ปตท. ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทาง บมจ.ปตท. เองก็อยากรู้เช่นกันว่า อดีตประธาน บมจ.ปตท. ที่เขียนจดหมายส่วนตัวส่งไปนั้นคือใคร

• จากประเด็นที่คณะของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ฟ้องร้อง บมจ.ปตท. นั้น เป็นเรื่องที่ซ้ำซากและวกวน โดยคดีที่ น.ส.รสนา และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องเมื่อปี 2549 เป็นเรื่องของการเพิกถอนการแปรรูป บมจ.ปตท. ซึ่งเหมือนกับที่ได้ทำกับ กฟผ. มาแล้ว ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาออกมาแล้วเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 50 ว่า ไม่เพิกถอนการแปรรูป บมจ.ปตท. แต่ให้มีการแก้ไข โดยการโอนที่ดินบางส่วนที่ได้มาจากการริดรอนสิทธิที่ดินเอกชนและใช้เงินของรัฐ ในสมัยที่ บมจ.ปตท. ยังเป็นการปิโตรเลียมอยู่คืนให้กับรัฐ ส่วนท่อก๊าซฯ ศาลตัดสินว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องมีการคืนบางส่วนไปด้วย นอกจากนี้ ยังให้มีการคืนอำนาจมหาชนที่อยู่ใน บมจ.ปตท.

• ศาลได้มีการวินิจฉัยแล้วว่า การคืนทรัพย์สินของ บมจ.ปตท. ถูกต้องแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 51 และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 59 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยออกมา ว่า คดีท่อก๊าซฯ ที่ น.ส.รสนาไปยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อปี 2558  นั้น บมจ.ปตท. ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ส่งคืนท่อก๊าซฯ ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว แต่หลังจากที่ตรวจสอบดูสำนวนคำฟ้องของ น.ส.รสนา แล้วพบว่า มีการแนบหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ระบุว่า บมจ.ปตท. ยังคืนท่อก๊าซฯ ไม่ครบ ยังเหลือท่ออีก 68,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้คืน แต่คืนไปแล้ว 15,000 ล้านบาท ยังเหลืออีก 53,000 ล้านบาท หลังจากที่ศาลตัดสินได้ 3 วันนั้น ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และมีการนำข้อมูลที่ น.ส.รสนายื่นฟ้อง บมจ.ปตท. เมื่อปี 2558 มายื่นฟ้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง

• ท่อก๊าซฯ ทั้งหมดที่ บมจ.ปตท. มีเท่าไรนั้น ศาลได้รับข้อมูลทั้งหมดในช่วงการพิจารณาคดีตั้งแต่ปี 2549-2550 นอกจากนี้ ศาลยังทราบดีว่า บมจ.ปตท. มีอำนาจในการกำหนดเขตที่จะวางท่อก๊าซฯ ตาม พ.ร.บ. แต่การกำหนดเขตวางท่อก๊าซฯ ของ บมจ.ปตท. ไม่ใช่การรอนสิทธิ์ที่ดินของเอกชน ไม่ใช่การเวียนคืนที่ดินทุกแนวท่อ เพราะไม่ได้ใช้เงินของรัฐทุกแนวทาง จากข้อมูลที่ สตง. ได้ยืนยันมาตลอดก่อนหน้านี้ คือ ประเด็นที่ บมจ.ปตท. ยังได้คืนท่อก๊าซฯ ในทะเล ซึ่งไม่ใช่มูลค่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งมีความไม่ตรงกันกับข้อมูลของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

• อย่างไรก็ตาม บมจ.ปตท. จะคืนท่อก๊าซฯ หรือไม่ หรือคืนแค่ไหนนั้น ก็ควรยึดตามคำวินิจฉัย คำพิพากษาของศาล บมจ.ปตท. ไม่สามารถที่จะปฏิบัติอย่างอื่นได้ นอกจากนี้ในข้อตกลงระหว่าง บมจ.ปตท. และกรมธนารักษ์ในเรื่องการโอนที่ดินและท่อก๊าซฯ มีการเขียนไว้ว่า หากมีที่ดินและท่อก๊าซฯ บางส่วนที่ยังไม่ได้คืน สามารถบังคับให้คืนในภายหลังได้ และ บมจ.ปตท. ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัด จะปฏิบัติเกินกว่าคำสั่งศาลไม่ได้

• กรณีนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวหาว่า คณะกรรมการ บมจ.ปตท. มีผลประโยชน์ทับซ้อน และรายได้ปีละหลายล้านบาทนั้น สาเหตุที่มีข้าราชการนั่งเป็นกรรมการ บมจ.ปตท. หลายท่าน เนื่องจาก บมจ.ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ โดย ก.คลัง ถือหุ้น 51% และกองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้นอีก 14.9% ข้าราชการ ก.พลังงาน ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายด้านพลังงาน และยังทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นของรัฐในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอย่าง บมจ.ปตท. ดังนั้น ตนจึงมองว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะต้องมีข้าราชการของ ก.พลังงาน หรือ ก.คลัง เข้ามาเป็นกรรมการ บมจ.ปตท. หรือกิจการอื่นๆ ของรัฐที่รัฐบาลถือหุ้นในฐานะผู้ถือหุ้น

• ที่ผ่านมา ก.พลังงาน ได้พิจารณาจัดสรรไม่ให้ข้าราชการของ ก.พลังงาน เข้ามาเป็นกรรมการของ บมจ.ปตท. ในตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการของ บมจ.ปตท. เช่น ให้ใบอนุญาตตั้งสถานีบริการน้ำมัน หรือการกำหนดราคา และไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตำแหน่งข้าราชการใน ก.พลังงาน

• กรณีข้อกล่าวหาที่ระบุว่า ในปี 2557 กรรมการ บมจ.ปตท. ได้รับค่าตอบแทนประมาณ 4.7 ล้านบาทนั้น จากการที่ตนได้ไปตรวจสอบข้อมูลพบว่า ไม่เป็นความจริงอย่างที่มีการกล่าวหา โดยในปี 2557 กรรมการ บมจ.ปตท. ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ย 2.9 ล้านบาท และในปี 2558 ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ย 1.7 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ถือว่า กรรมการ บมจ.ปตท. ไม่ได้มีค่าตอบแทนสูงแต่อย่างใด

กรณีมีรายชื่อ นอมินี ในทะเบียนผู้ถือหุ้นของ บมจ.ปตท. นั้น ถือเป็นเรื่องปกติของผู้ลงทุนต่างชาติที่เป็นกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เมื่อมาลงทุนในต่างประเทศก็จะให้ธนาคารต่างๆ เป็นตัวแทนจัดการผลประโยชน์ ด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวก ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ในกองทุนนั้นๆ มีใครบ้าง จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีนักการเมืองถือหุ้น บมจ.ปตท. ผ่านกองทุนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับของบริษัทชั้นนำอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ของ บมจ.ปตท. ถือว่ามีน้อยมาก

กรณีข้อกล่าวหาที่ระบุว่า บมจ.ปตท. ยักยอกเงินกองทุนน้ำมันฯ มาอุดหนุนกำไรให้กับ บมจ.ปตท. นั้น ตนขอชี้แจงว่า นโยบายด้านพลังงาน และการกำหนดราคาพลังงาน เป็นอำนาจของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะใช้กลไกต่างๆ ในการควบคุม เช่น การใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยค่าขนส่ง เพื่อให้ราคาก๊าซแอลพีจีในแต่ละพื้นที่มีราคาเท่ากัน โดย บมจ.ปตท. ไม่ได้รับกำไรจากการอุดหนุนค่าขนส่งส่วนนี้แต่อย่างใด


ปตท.โต้ ปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดินวิจารณ์ทำให้เสื่อมเสีย


บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า ตามที่มีการวิจารณ์บริษัทผ่านสื่อมวลชน โดยปราศจากข้อเท็จจริง และขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจการด้าน พลังงาน และการบริหารงานในลักษณะบริษัทมหาชน และได้มีผู้นำไปเผยแพร่ต่อในสื่อสังคมต่างๆ ปตท. เห็นว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนกับประชาชนทั่วไป สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ขององค์กร และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ดังนั้น ปตท. จึงขอชี้แจงในประเด็นที่ถูกนำมากล่าวอ้างดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1. การยื่นฟ้องคดีของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องการคืนท่อก๊าซฯ ควรต้องรอคำวินิจฉัยของศาลฯ

ตามที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างว่าคำฟ้องของตนเป็นข้อเท็จจริงคนละส่วนกับคำฟ้องของคุณรสนา โตสิตระกูลนั้น เนื่องด้วย ปตท. ยังไม่ได้รับหมายสำเนาคำฟ้องหรือหมายเรียกจากศาล จึงยังไม่ทราบรายละเอียดของคำฟ้อง อย่างไรก็ตาม หากคำฟ้องดังกล่าวเป็นเรื่องของการคืนท่อก๊าซฯ ปตท. ขอยืนยันว่าได้ส่งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้กับศาลปกครองสูงสุดพิจารณาในคดีแปรรูป (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 35/2550) แล้ว และพร้อม ที่จะชี้แจงเพิ่มเติมตามที่ศาลปกครองจะพิจารณาเห็นสมควร และเพื่อเป็นการเคารพในกระบวนการยุติธรรม ปตท. จึงจะไม่ชี้แจงประเด็นนี้ในสาธารณะนอกเหนือจากที่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลฯ แล้ว

ประเด็นที่ 2. ปตท. ยืนยันดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว และ ปตท. ไม่มีอำนาจมหาชนของรัฐ อีกต่อไป

มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ขอให้ศาลเพิกถอนการแปรรูป ปตท. และต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครอง สูงสุดมีคำพิพากษาไม่เพิกถอนการแปรรูป ปตท. แต่ให้แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และอำนาจมหาชนของรัฐออกจาก ปตท.

ทั้งนี้ การดำเนินการแปรรูป ปตท. เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดตาม พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ด้วยความรอบคอบ ผ่านการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนดำเนินการ

สำหรับในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนวันจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด (1 ตุลาคม 2544) โอนไปเป็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งทรัพย์สินที่จะต้องแบ่งแยกเพื่อคืนรัฐ ได้แก่ส่วนที่

1. ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ (โดยการปิโตรเลียมฯ)

2. บังคับเหนือที่ดินของเอกชน (การเวนคืนและการรอนสิทธิ) และ

3. ได้จ่ายเงินค่าทดแทนโดยการใช้เงินของการปิโตรเลียมฯ

สำหรับ ทรัพย์สินที่การปิโตรเลียมฯได้มาโดยมิได้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ แต่ได้มาโดยวิธีการอื่น เช่น การซื้อ การจัดหา หรือแลกเปลี่ยนนั้น ไม่ต้องคืนให้กระทรวงการคลัง ดังนั้น ท่อ ก๊าซฯในทะเล ซึ่งไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนบังคับเหนือที่ดินของเอกชนใด และไม่ได้มีการจ่ายค่าทดแทนให้แก่เอกชนใด จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องคืนให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาล ปกครองสูงสุด

ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ที่ดินและท่อก๊าซฯที่อยู่บนที่ดินดังกล่าวแล้ว โดยศาลก็ได้มีคำสั่งยืนยันหลายครั้งว่าได้ดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว ซึ่งครั้งล่าสุด คือ วันที่ 7 เมษายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดโดยการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลวัน ที่ 26 ธันวาคม 2551

ประเด็นที่กล่าวอ้างว่า ในวันที่มีคำสั่งว่าการดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว ศาลฯ ยังไม่เห็นรายงานของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีข้อสังเกตว่า ปตท. ยังดำเนินการไม่ครบถ้วนนั้น สตง. ได้มีหนังสือแจ้งความเห็นโดยตรงไปยังศาลฯ 2 ฉบับ ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งศาลฯ ได้พิจารณาหนังสือดังกล่าว และแจ้งตอบ สตง. แล้วว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในส่วนอำนาจมหาชนของการปิโตรเลียมฯ เมื่อได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 อำนาจมหาชนของรัฐได้ถูกโอนไปเป็นของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จึงทำให้ในปัจจุบัน ปตท. ไม่มีอำนาจมหาชนของรัฐอีกต่อไป

ประเด็นที่ 3. การแปรรูป ปตท. เป็นไปตามนโยบายรัฐที่ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล การให้สิทธิพนักงานจองซื้อเป็นไปอย่างโปร่งใส ตามแนวปฏิบัติสากล เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร 

การกล่าวหา ว่า ปตท. แจกหุ้นพนักงานและสหภาพรัฐวิสาหกิจ เพื่อปิดปากไม่ให้คัดค้านการแปรรูปการปิโตรเลียมฯ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และขาดความเข้าใจหลักการบริหารประสิทธิภาพองค์กร

การกระจาย หุ้นของ ปตท. เปิดให้ผู้สนใจลงทุนและพนักงานจองซื้อ ได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติสากล โดยที่ปรึกษาการเงินชั้นนำของไทยและระดับโลก ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม

การให้สิทธิพนักงานจองซื้อหุ้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการให้พนักงานมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัท หรือ ESOP (Employee Stock Ownership Plan) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสากล ทั้งในต่างประเทศ และในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความผูกพันกับองค์กร มีส่วนร่วมและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของบริษัท ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพ องค์กรมีผลประกอบการที่ดีและเจริญเติบโตไปด้วยกัน ดังเห็นได้จากบริษัทชั้นนำในต่างประเทศเช่น Apple, Alibaba, BP รวมทั้งรัฐวิสาหกิจของไทยอื่นๆที่แปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

การที่ ปตท. สามารถ ดำเนินการแปลงสภาพตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ โดยปราศจากการคัดค้านอย่างรุนแรงนั้น เนื่องจาก ปตท. ได้เปิดโอกาสให้พนักงานและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของ ปตท. เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล และร่วมในคณะทำงานเรื่องต่างๆ ตั้งแต่แรกเริ่ม จึงทำให้พนักงานเข้าใจเจตนารมณ์ วัตถุประสงค์การแปลงสภาพ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่องค์กรและประเทศชาติ การดำเนินการต่างๆจึงเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ จึงเห็นได้ว่า การไม่คัดค้านการแปรรูป ปตท. ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการได้รับจัดสรรหุ้น ESOP แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 4. สถาบันการเงินที่มีชื่อต่อท้ายว่า Nominee ถือหุ้น ปตท. เป็นกรณีปกติของบัญชีรับฝากหลักทรัพย์ของการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งถือหุ้นบริษัทมหาชนชั้นนำอื่นๆใน ตลท. เช่นเดียวกัน

การกล่าวหาว่ามีบุคคลใช้บัญชี Nominee มาถือหุ้น ปตท. และได้ประโยชน์มากมายจากเงินปันผล เกิดจากความไม่เข้าใจกลไกในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยนักลงทุนต่างประเทศ

สถาบันการเงินต่างๆจัดตั้งบัญชี Nominee และดำเนินการบริหารเงินลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อย นิติบุคคล นักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ประสงค์ลงทุนหรือซื้อหุ้นในประเทศอื่น ภายใต้กฎหมายของแต่ละประเทศ และทำหน้าที่เป็นบัญชีรับฝากหลักทรัพย์ของนักลงทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญ, กองทุนประกันสังคม, กองทุนบริหารสินทรัพย์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติปกติสากล   บริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ ก็มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นบัญชี Nominee เพื่อสนับสนุนการลงทุนและระดมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์ของไทย

ตัวอย่างบัญชี Nominee ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของ ปตท. คือ Chase Nominee Limited จัดตั้งโดยธนาคารขนาดใหญ่ของโลก เพื่อให้บริการลูกค้าที่ประสงค์จะลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ จึงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชั้นนำของไทยหลายแห่ง เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บมจ.บ้านปู ธนาคารกสิกรไทย บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น เป็นต้น




ประเด็นที่ 5. การนำเงินกองทุนน้ำมัน ไป ชดเชยราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มในอดีต เป็นการดำเนินการโดยรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ไม่ให้ราคาสูงตามต้นทุนที่นำเข้า ปตท. ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ

การกล่าวหาว่ามีการนำเงินกองทุนฯมาช่วยค่าขนส่งก๊าซ LPG ของ ปตท. เกิดจากความไม่เข้าใจนโยบายการกำกับราคาพลังงานของรัฐและไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน

ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา รัฐบาลเปิดเสรีให้ผู้ดำเนินธุรกิจก๊าซ LPG (ผู้ค้ามาตรา 7) สามารถนำเข้าและจำหน่าย LPG ได้ โดยหากมีต้นทุนการนำเข้าสูงกว่าราคาที่รัฐกำหนดให้ขายก็จะได้รับการชดเชย จึงไม่มีผู้ค้ารายใดสนใจ เพราะไม่มีแรงจูงใจ เนื่องจากผู้นำเข้าต้องจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อนแล้วจึงได้รับเงินชดเชยจากรัฐ ภายหลัง

จากการที่ราคาพลังงานโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นมาในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยในยุคต่างๆมีนโยบายตรึงราคาขายก๊าซ LPG เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค ซึ่งทำให้ต้องนำเงินจากกองทุนฯมาชดเชยส่วนต่างจากต้นทุนที่นำเข้ามาสำหรับปริมาณที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  ซึ่งมากบ้างน้อยบ้างตามภาวะราคาในตลาดโลก นอกจากนั้น รัฐยังได้ประกาศนโยบายก๊าซ LPG ทั่วประเทศราคาเดียวกัน ทำให้ต้องนำเงินกองทุนฯอีกส่วนมาชดเชยค่าขนส่งและกระจายผลิตภัณฑ์

ในฐานะผู้ดำเนินการนำเข้าและกระจายก๊าซ LPG ปตท. จึงเป็นผู้ได้รับการชดเชยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อัตราที่รัฐชดเชยยังต่ำกว่าต้นทุนการนำเข้าและขนส่งจริง ทำให้ ปตท. ขาดทุนจากการดำเนินการในส่วนนี้ โดยปี 2558 เป็นเงินประมาณ 1,042 ล้านบาท แบ่งเป็นขาดทุนจากการนำเข้า 622 ล้านบาท และขาดทุนจากการขนส่งประมาณ 420 ล้านบาท จึงเห็นได้ว่า การนำเงินกองทุนฯมาอุดหนุนราคาก๊าซ LPG ไม่ใช่เล่ห์การโกงของใครทั้งสิ้น แต่มาจากนโยบายรัฐที่ต้องการแบ่งเบาภาระผู้บริโภค ไม่ให้ราคาขายก๊าซ LPG ในประเทศสูงตามต้นทุนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 รัฐได้ประกาศลอยตัวราคาขายปลีกก๊าซ LPG ให้สะท้อนต้นทุนการนำเข้าที่แท้จริง  โดยใช้โอกาสที่ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวลงมาใกล้เคียงกับราคาที่ขายในประเทศ ดังนั้นภาระการชดเชยด้วยเงินจากกองทุนจะลดลง

ประเด็นที่ 6. ปตท. ดำเนินการจัดหาด้วยกระบวนการที่โปร่งใส ตามระเบียบและหลักการกำกับกิจการที่ดี พร้อมรับการตรวจสอบ โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการประมูลสร้างแท้งก์น้ำมัน 10 แห่ง ตามที่มีการกล่าวหาว่าผู้ชนะเสนอราคาสูงกว่าปกติ 4-5 ล้านบาท

ข้อกล่าวหาว่ามีผู้ชนะการประมูลสร้างแท้งก์น้ำมัน 10 แห่งของ ปตท. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เสนอราคาสูงกว่าปกติ 4-5 ล้านบาท เป็นการรับฟังจากบุคคลที่ 3 โดยไม่ได้แสดงรายละเอียดและหลักฐานใดๆประกอบ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้ตรวจสอบเบื้องต้น ไม่ปรากฏว่าในช่วงปี 2557 – 2558 มีการประมูลสร้างถังน้ำมันใดๆ

ปตท. ขอเรียกร้องให้ผู้กล่าวหาแสดงรายละเอียดและหลักฐานเกี่ยวกับกระบวนการจัดหา ที่อ้างถึง เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบ ชี้แจง และแก้ไขหากมีข้อบกพร่องจริง

ประเด็นที่ 7. ราคาน้ำมันปรับขึ้นลงโดยกลไกตลาดและนโยบายรัฐในการเก็บภาษีและกองทุนน้ำมัน ปตท. เป็นตัวแทนรัฐในการสร้างการแข่งขันด้านราคาเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

ข้อกล่าวหาว่า ปตท. ใช้สิทธิแสวงหาประโยชน์จากประชาชน เมื่อมีการตรวจสอบเรื่องกองทุนน้ำมัน ราคาน้ำมันจึงถูกลง เกิดจากการขาดความเข้าใจในกลไกการกำหนดราคาน้ำมันของไทย

โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญคือ

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งแปรตามราคาตลาด
2. ภาษีสรรพสามิตและอื่นๆ ตามที่รัฐกำหนด ส่งเป็นรายได้เข้ารัฐเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ
3. เงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันและอื่นๆ ตามที่รัฐกำหนด เพื่อใช้เป็นกลไกผลักดันนโยบายด้านพลังงานของรัฐ
4. ค่าการตลาดของผู้ค้า ซึ่งติดตามดูแลโดยกระทรวงพลังงานให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

โครงสร้างราคาน้ำมันประจำวันที่ 25 เมษายน 2559


กองทุน น้ำมันเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำกับราคาน้ำมันชนิดต่างๆ ให้เป็นไปตามนโยบาย โดยมีคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เป็นผู้กำกับการบริหารจัดการและกำหนดการจัดเก็บเงิน ซึ่งเรียกเก็บหรือส่งผ่านไปยังผู้บริโภคโดยตรง ปตท. และผู้ค้าน้ำมันอื่นไม่มีส่วนได้เสียใดๆในส่วนเงินเก็บเข้ากองทุนฯ

ราคาน้ำมันขึ้นลง เป็นผลจากราคาอ้างอิงในตลาดสากล และการกำหนดอัตราภาษีและเงินกองทุนเป็นหลัก ในส่วนค่าการตลาดที่ ปตท. และบริษัทน้ำมันอื่นๆ ได้รับ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ประมาณ 1.50 บาทต่อลิตร ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกน้ำมัน

ปตท. ไม่เคยขายน้ำมันแพงกว่าสถานีบริการน้ำมันหรือปั๊มตราอื่นๆ แต่มีแนวปฏิบัติที่จะชะลอการปรับราคาเพื่อสร้างการแข่งขันในตลาดน้ำมัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่นในปี 2558 ปตท. ตั้งราคาหน้าปั๊มต่ำกว่าปั๊มของบริษัทน้ำมันต่างประเทศ เป็นจำนวน 23 วัน จาก 365 วัน

ประเด็นที่ 8. ค่าตอบแทนกรรมการ ปตท. แปรผันตามผลการดำเนินงานขององค์กร มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของบริษัทมหาชนทั่วไป 

ข้อกล่าวหา ว่ากรรมการ ปตท.ได้รับผลประโยชน์มากเป็นเพราะผู้กล่าวหาไม่มีการเปรียบเทียบข้อมูลกับ องค์กรที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะบริษัทมหาชน

ค่าตอบแทน กรรมการของ ปตท. ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ต้องให้ความเห็นชอบด้วย โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนใน ตลท. อื่นๆ และแปรผันตามผลการดำเนินงานในแต่ละปี โดยจะเปิดเผยอยู่ในรายงานประจำปีที่สาธารณชนสามารถตรวจสอบดูได้

ในปี 2557 และ 2558 กรรมการ ปตท. ได้รับค่าตอบแทนรวมทุกประเภทเฉลี่ย 2.86 ล้านบาทต่อคน และ 1.67 ล้านบาทต่อคนตามลำดับ (ไม่รวมเบี้ยประชุมคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าบริษัทมหาชนชั้นนำหลายบริษัทใน ตลท. ที่ให้ผลตอบแทนกรรมการเฉลี่ยในระดับ 5-7 ล้านบาทต่อคน ทั้งๆ ที่ ปตท. เป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาด Market Capitalization สูงที่สุดใน SET


ภาพรวมการใช้จ่ายค่าตอบแทนกรรมการของบริษัทใน SET 50* ประจำปี 2557


สำหรับกรรมการ ปตท. บางท่านที่ลงทุนซื้อหุ้น ปตท. จะได้รับเงินปันผลตามเกณฑ์เดียวกันกับผู้ถือหุ้นทั่วไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสถานะการเป็นกรรมการแต่อย่างใด การนำเงินปันผลที่ได้รับในฐานะผู้ถือหุ้น มาคิดรวมเป็นผลประโยชน์ตอบแทนกรรมการ จึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม

ประเด็นที่ 9. การมีหนังสือจากอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เพื่อให้คำยืนยันว่าได้มีการดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว และเห็นควรยุติเรื่องนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลฯ เป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส 

ตามที่ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินให้ข้อมูลผ่านสื่อว่า มีอดีตประธาน ปตท. เขียนจดหมายส่วนตัวมาถึงท่าน และระบุว่าได้ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว อย่ามาหาเรื่อง และให้ยุติเรื่องดังกล่าวนั้น ปตท. ตรวจสอบแล้วไม่พบหนังสือส่วนตัวของอดีตประธานกรรมการ ปตท. แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (คุณไพรินทร์ ชูโชติถาวร) ได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ ถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อชี้แจงให้ทราบว่า ปตท. ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำ พิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว

ปตท. ใคร่ขอให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยหนังสือส่วนตัวที่ได้กล่าวถึงต่อสาธารณะ เพื่อจะได้ตรวจสอบว่ามีความพยายามใช้อิทธิพลใดๆหรือไม่ และเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนในเรื่องดังกล่าว

10.  การแต่งตั้งข้าราชการเข้ามาเป็นกรรมการ ปตท. เป็นสิทธิของผู้ถือหุ้น เพื่อกำกับดูแลทรัพย์สินของรัฐ ควบคู่กับการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐด้านพลังงาน

ปตท. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 51.1 และกองทุนรวมวายุภักษ์ถือหุ้นอีกร้อยละ 14.9 การแต่งตั้งผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐเป็นกรรมการ ปตท. สามารถกระทำได้ผ่านการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่ง ปตท.ไม่มีบทบาทในการชี้นำ

ผู้ถือหุ้น ปตท. จาก SETTRADE 

ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รัฐควรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยมอบหมายผู้แทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพื่อกำกับดูแลและรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รวมทั้งติดตามการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐด้วย

ทั้งนี้ ข้าราชการที่มาเป็นกรรมการบริษัท ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเชิงวินัยข้าราชการ กฎหมายเกี่ยวกับกรรมการของรัฐวิสาหกิจ กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน และกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกำหนดความรับผิดไว้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา จึงเป็นหลักประกันว่าผู้แทนของภาครัฐจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทในลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน

ปตท. ขอยืนยันว่าได้ดำเนินงานทุกขั้นตอนภายใต้หลักธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ และสามารถสอบถามข้อเท็จจริงอื่นๆ ได้ที่ www.pttplc.com หรือ ดาวน์โหลด PTT Insight Application หรือ PTT Contact Center โทร.1365

ดาวน์โหลดเอกสาร : ปตท.ชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา

การขายหุ้น IPO ปตท. 2544 กับ 3 คำถามที่สังคมสงสัย


การขายหุ้น  IPO ปตท. ปี2544

ในเดือนพฤศจิกายน 2544 ได้มีการจัดจำหน่ายหุ้น บมจ. ปตท. หลังจากที่แปรสภาพมาจาก การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำนวน 920,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 35 บาท รวมมูลค่า 32,200,000,000 บาท ซึ่งมีประเด็นในกระบวนการจัดจำหน่ายหุ้น ปตท. ที่ถูกโจมตีมากมาตลอด มีอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้
  1. ราคาที่ขาย หุ้นละ 35 บาทนั้น เป็นราคาที่ถูกเกินไป
  2. ในการจองซื้อ ในส่วนที่ขายให้ประชาชนทั่วไปนั้น ขายหมดใน 1 นาที 17 วินาที มีประชาชนไปเข้าแถวแล้วจองไม่ได้เป็นจำนวนมาก
  3. ในรายชื่อผู้ได้รับการจัดสรร มีรายชื่อของผู้ที่เป็นนักการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นญาติ เป็นพรรคพวกกับผู้มีอำนาจอยู่หลายคน
สาเหตุที่ ปตท. เข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ



ในปี 2544 ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ฟื้นจากวิกฤตดี โดยเฉพาะตลาดทุน ตลาดหุ้น ต้นปี 2544 ดัชนี SET Index ตกต่ำอย่างมาก อยู่ที่ 304 โดยดัชนี SET เคยสูงสุดอยู่ที่ 1,700 ในปี 2536 ต่อมาปี2539 ดัชนีลงมาอยู่ที่ 832 และสิ้นปี2540 หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ตกลงมาอยู่ที่ 400 มาตลอด ซึ่งปี 2544 ก่อนการขายหุ้นนั้น ปตท. มีวอลุ่มเฉลี่ยแค่ วันละ 5,000 ล้านบาท ในขณะที่ Market Cap 1.5 ล้านๆบาท ปัจจุบัน SET Index อยู่ที่ 1,365 มีวอลลุ่มซื้อขายวันละ 30,000 ล้านบาท และ Market Cap 12 ล้านๆบาท

ในปี 2541 KBANK SCB และ BBL ได้มีการเสนอขายหุ้น IPO เพิ่มทุน เพื่อแก้ปัญาวิกฤติในขณะนั้น รวม 110,000 ล้าน หลังจากนั้นหุ้นก็ตกลง ผู้จองซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างประเทศต่างขาดทุนกันถ้วนหน้า ทำให้หุ้นเพิ่มทุนรวมทั้ง IPO ของตัวอื่นๆ แทบจะขายไม่ได้เลย ซึ่งผู้จองซื้อหุ้น ในช่วงเวลานั้นต่างขาดทุนจากการจองซื้อหุ้นกันตลอดมา โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ

กลต.เคยบังคับให้แบ่งส่วนการจองซื้อหุ้น IPO 30%  แก่บุคคลทั่วไป ปรากฎว่า เคยเปิดการจองหุ้น IPO ที่ศูนย์สิริกิตทั้งวัน มีคนมาจองไม่กี่สิบคน กลต.ต้องยกเลิกกฎดังกล่าวไป
ทำไมต้องจำหน่ายหุ้น ปตท.ในช่วงเวลานั้นด้วย
  • ปตท. ต้องการเงินทุน เพื่อไปแก้ไขปรับสถานะการเงินบริษัทในเครือทั้งหลาย
  • ปตท. มีโอกาสที่จะได้ลงทุนในอุตสาหกรรมการกลั่น และปิโตรเคมีที่บอบช้ำหนัก หลังวิกฤติ ทำให้ราคาถูก อีกทั้งรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณมาให้ได้ กับทั้ง
  • รัฐบาลหวังว่า การจำหน่ายหุ้น IPO ปตท.ที่มีขนาดใหญ่ จะปลุกความสนใจในตลาดหุ้นไทยให้กลับมาได้

ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2544 เริ่มมีการออกข่าวว่า ปตท.จะเข้าตลาดฯ โดยมีผู้ร่วมจัดการจำหน่ายหุ้น ได้แก่ 3 บริษัทไทย คือ บล.ภัทร บล.ไทยพาณิชย์ และ บล.ทิสโก้ และ อีก 3 Investment Bank ระดับโลก คือ CSFB. Lehman Brothers และ Merrill Lynch เริ่มออก Research จนดัชนี SET Index ปรับตัวกว่า 10% จาก 300 ในช่วงต้นเดือนสิงหา ปี 2544 มาที่ 340 ในช่วงต้นเดือนกันยายน ปี 2544


แต่วันที่ 11 กันยา (9/11) ก็เกิดเหตุการณ์ตึกเวลเทรดถล่ม ตลาดหุ้นตกต่ำทั่วโลก ดัชนี SET Index ลงไปที่ 280 ในวันที่ 8 ตุลาคม ได้มีการทดสอบตลาด เพื่อประเมินความต้องการเบื้องต้น

วิธีการทดสอบตลาด
  • สถาบันไทย และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ (เป้าหมายใหญ่สุด) การทดสอบตลาดสำหรับนักลงทุนสถาบันนั้น เรียกว่า Pre-deal marketing ซึ่งก็คือกระบวนการ ที่นักวิเคราะห์ออกไปให้ข้อมูลนักลงทุนสถาบัน ไปเชิญชวนให้สนใจศึกษา สนใจลงทุน พร้อมกับเก็บ feedback เลยว่า ราคาเท่าไหร่ถึงจะยอมลงทุน ดังนั้น Research Analyst ของทั้ง 6 แห่ง (บล.ภัทร บล.ไทยพาณิชย์ บล.ทิสโก้  CSFB. Lehman Brothers และ Merrill Lynch) จะออกไปพบนักลงทุนสถาบันทั่วโลก เพื่อรวบรวมความสนใจ ตลอดไปจนถึงการหาช่วงราคาที่เหมาะสม
  • ลูกค้าบุคคลที่ซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว  จะให้ Underwriter ไทยทั้ง 3 แห่ง (บล.ภัทร บล.ไทยพาณิชย์ บล.ทิสโก้) ทำการสำรวจความเห็น
  • ประชาชนทั่วไปที่มีเงินออมซึ่งปกติไม่ได้เล่นหุ้นจะ ให้ธนาคารสองแห่ง (กรุงไทย กับ ไทยพาณิชย์) ทำการสำรวจความเห็นจากลูกค้าเงินฝากกว่า 5,000 ราย
หลักการ และเป้าประสงค์ในการจัดจำหน่ายหุ้น โดยเฉพาะ IPO
  1. ต้องขายให้หมด
  2. ต้องให้ได้ราคาที่เหมาะสม ราคาไม่ควรจะต่ำไป หรือสูงไป
  3. ต้องให้มีเสถียรภาพของราคาหลังจากเข้าซื้อขาย หลังจากหุ้นเข้าตลาดแล้วจะมีจุดสมดุลราคาประมาณ 5-10% เหนือราคาจอง และมีเสถียรภาพ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐาน หรือ สภาพตลาด
  4. มีการกระจายที่เหมาะสม แก่นักลงทุนทั้ง 4 กลุ่ม
สาเหตุที่ ทางปตท.และรัฐบาล ก็ตัดสินใจจำหน่ายหุ้น IPO ในราคาหุ้นละ 35 บาทในวันที่ 8 ตุลาคม 2544

เรื่องแรก ช่วงราคาที่จะเสนอขาย ซึ่งได้มีการใช้ทุกวิธีที่จะวิเคราะห์เพื่อให้ได้ราคาดีที่สุด ที่ผู้ซื้อจะยอมรับได้ ทั้การใช้ Discounted Cashflow Model และ Capital Asset Pricing Model อื่นๆ รวมทั้ง การเปรียบเทียบ กับราคาหุ้นอื่น ทั้งในตลาดไทย กับ อุตสาหกรรมเดียวกัน ใน ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อื่นๆ เช่น Sinopec, CNOOC, Petro China, Petronas

ช่วงราคาที่ตกลงกำหนดก็คือ 29-35 บาทต่อหุ้น โดยปี 2543 ปตท.มีกำไร แค่ หมื่นล้านบาทเศษๆ ยังมีปัญหาบริษัทในเครืออีกเยอะ หากพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูล SET Index ตอนที่จำหน่ายหุ้น IPO อยู่ที่ 280 แต่ปัจจุบันดัชนี SET index อยู่ที่ 1,365 สูงขึ้นเท่ากับ 14.1% ต่อปี ถ้าหุ้นซื้อปตท. ราคา 35 บาท ปัจจุบันราคาหุ้นละ 300 บาท ได้ผลตอบแทนเท่ากับ 19.1% ต่อปี



วิธีการกำหนดราคาหุ้น IPO ของปตท. ในขณะนั้น เป็นวิธีการที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามมาตรฐานตลาดทุนโลก ราคาขายสุดท้ายถูกกำหนดจากกระบวนการ Bookbuilding

เรื่องที่สอง การแบ่งจำนวนตาม Tranches ต่างๆ และการกำหนดวิธีการจองหุ้น IPO ของบุคคลไทย ที่ได้จากการสำรวจความเห็น มีดังนี้

1.  สถาบันไทย...กำหนดว่าจะขาย 10% 92 ล้านหุ้น เนื่องจากขนาดนักลงทุนสถาบันไทย ซึ่งได้แก่ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กองทุนประกันสังคม ประกันชีวิต โดยรวมในเวลานั้นยังมีขนาดเล็ก

2.  นักลงทุนบุคคลแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

2.1 พวกที่เป็นนักลงทุนในตลาดอยู่แล้ว (นักเล่นหุ้น) กำหนดไว้ 170 ล้านหุ้น โดย 50 ล้านหุ้นเป็นส่วนที่ทางปตท. จะเป็นผู้จัดสรรให้กับผู้มีอุปการะคุณ ซึ่งได้แก่ คู่ค้า พวกเอเย่นต์ ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งก็เป็นไปตามกฎที่ กลต.กำหนดไว้ทุกประการ ส่วน 120 ล้านหุ้นเป็นส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์กว่าสิบแห่งจะได้รับไปจัดสรรให้ลูกค้าของตนได้ ซึ่งเป็นไปตามวิธีการจัดจำหน่ายทั่วไป
2.2 นักลงทุนบุคคลที่ให้จองผ่านสาขาธนาคาร 5 ธนาคาร กำหนดไว้เริ่มต้นที่ 200 ล้านหุ้น โดยใช้วิธี First Come First Serve คือ ใครมาลงชื่อจ่ายเงินก่อนได้รับจัดสรรก่อน พอจองหมดก็จะหยุดรับจอง แต่อาจจัดสรรให้เพิ่มอีก 130ล้านหุ้นได้ ในกรณีที่มีการจำนวนการจองมาก และพิจารณาแล้วว่าการจองมีคุณภาพ จะรับจองไปจนถึง 350 ล้านหุ้น

3. นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ เป็นเป้าหมายใหญ่ที่สุด ส่วนที่จะขายต่างประเทศ จะเป็นส่วนที่ใช้กำหนดราคา ที่เรียกว่าเป็นวิธี Book-building ซึ่งก็คือ การรวบรวมอุปสงค์ในระดับราคาต่างๆกัน เป็น informal auction นั่นเอง (รวบรวมราคาที่นักลงทุนสถาบันอยากซื้อ มาเป็นข้อมูล) ซึ่งการรวบรวมอุปสงค์นี้จะทำควบคู่กันไปกับการ Roadshow และเก็บอุปสงค์ของสถาบันไทย ส่วนลูกค้าบุคคลธรรมดาจะเป็น Price Taker คือ จ่ายเงินมาที่ราคาสูงสุดก่อน (หุ้นละ 35 บาท) ถ้า Final Price ตำ่กว่านั้นจะคืนเงินให้บางส่วน

ส่วนต่างประเทศนี้ กำหนดไว้ประมาณครึ่งหนึ่ง 450 ล้านหุ้น แต่ถ้าจำเป็น ก็สามารถเพิ่มได้ไปถึง 600 ล้านหุ้น ในกรณีที่อุปสงค์ในประเทศมีไม่พอ โดยเฉพาะจาก Tranche 2.2 ที่กลัวว่าจะไม่มีคนจองซื้อ // แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถลดลงไปได้ ถ้าอุปสงค์ในประเทศแข็งแรง ส่วนที่ย้ายไปมาได้ประมาณ 15% นี้ เรียกว่า Claw-back Portion

ในวันที่ 29 ตุลา - 16 พย.2544 เป็นช่วงที่ออก Roadshow ทีมในประเทศนำโดยคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เสนอการขายต่อลูกค้าเงินฝากธนาคาร ส่วนทีมใหญ่ ที่ประกอบด้วย ผู้ว่าวิเศษ จูภิบาล CFO พิชัย ชุณหวชิร และ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เลขาฯกรรมการนโยบายพลังงาน เดินทางทั่วโลก เริ่มที่ Singapore. Hong Kong. London. Edinburgh. Frankfurt. Paris. Boston. San Francisco. LA. แล้วมาจบกำหนดราคาที่ NEW YORK ในวันที่16 พย. 2544

ในวันที่12 พย. ก่อนถึงกำหนดการจองซื้อของลูกค้ากลุ่ม Tranche 2.2 ที่ผ่านสาขาของธนาคารทั้ง 5 ธนาคาร ได้มีขอลดจำนวนสูงสุดที่แต่ละคนจองได้ลง จากคนละสามแสนหุ้น ลงเหลือแสนเดียว เนื่องจากมีความต้องหุ้นเป็นจำนวนมาก และพอเปิดจอง ก็เป็นดังคาด สาขากว่า 10,000 ของธนาคารทั้ง 5 ส่วนใหญ่ลูกค้าแต่ละคนจองเต็ม 100,000 หุ้น ซึ่งพอเปิดจอง ได้ 1 นาที 17 วินาที ก็ครบ 200,000,000 หุ้น (สองร้อยล้านหุ้น) จึงเปิดการจองหุ้นอีกรอบ พอครบ 350,000,000 หุ้น (สามร้อยห้าสิบล้านหุ้น) จึงหยุดการจอง

การที่มีนักการเมืองจองซื้อได้คนละเป็นจำนวนมากๆ ซึ่งอยู่ในลูกค้ากลุ่ม Tranche 2.1.เนื่องจากในเมืองไทย คนมีเงินมีกระจุกมือเดียว รายชื่อจึงซ้ำไปมาไม่กี่ตระกูล แต่ก็ไม่มีรายใดที่ถูกห้ามซื้อตามกฎหมาย

จากความสำเร็จในการ Roadshow ทุก Tranche มีคนจองเป็นจำนวนมาก ส่วน ตปท. มีอุปสงค์ถึง 2,000,000,000 หุ้น (สองพันล้านหุ้น) ดังนั้นจึงกำหนดที่ราคาสูงสุดของ Price Range คือ 35 บาทต่อหุ้น ในที่สุดทางกท.อุตสาหกรรม ก็ให้ต่างชาติแค่ 330 ล้านหุ้นคิดเป็น 36% และให้ Tranche ธนาคาร 330 ล้านหุ้นเท่ากัน

ขอบคุณบทความของ Banyong Pongpanich

ปตท. ตัวอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจ กับ การโดนตราหน้าว่าเป็นทุนสามานย์ของคนบางกลุ่ม??

ปตท. กับคำว่าเหลี่ยมทุน ทุนสามานย์ เป็นประโยคที่คุ้นตา คุ้นหูมากในยุคหลังจากการแปรรูป ปตท.



จากอดีต...... การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2521 เพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยเป็นการรวมกันขององค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเมื่อเกิดวิกฤตอีกครั้งในปี 2533 อิรักบุกยึดคูเวต เกิดการกักตุนน้ำมันทำให้ขาดแคลน รัฐบาลตอนนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมาก ประเทศไทยขาดแคลนพลังงานและแหล่งในการจัดการ ทำให้ต้องมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการน้ำมันมากขึ้น จนทำให้เกิดผู้ค้าน้ำมันรายใหม่หลายราย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยต้องทำหน้าที่เป็น "ผู้คานอำนาจ" พร้อมกับมีความจำเป็นต้องพลิกบทบาทของตนเองไปกับการแข่งขันในเชิงธุรกิจไปด้วย ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นของการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ต้องสร้างบรรยากาศในการแข่งขัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่เสริมสร้างศักยภาพให้กับ ปตท. มาตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มักจะเป็นการผูกขาด ปตท.ต้องอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของบริษัทน้ำมันต่างชาติที่ยึดครองประเทศอยู่ ทั้งที่ตนเองมีขนาดเล็กจิ๋วมีทรัพย์สินเพียง 400 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการปรับบทบาทเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แล้วกระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก็ถูกจุดชนวนขึ้น ณ ตรงนั้น


จากการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปตท. กลายมาเป็นบริษัทมหาชนที่คล่องตัว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนธันวาคม โดยยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือรายใหญ่เช่นเดิม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุทธวิธียอมเสียส่วนน้อย (กระจายหุ้นบางส่วน) เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของ ปตท. เหลือเพียง 2 ต่อ 1 และมีเงินสดที่สามารถเพิ่มทุนให้บริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างสาหัส เช่น ไทยออยล์ มีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเพิ่มเป็นเฉียดแสนล้านบาท อยู่ในอาการโคม่าถูกบีบให้ขายกิจการให้ต่างชาติโดยเจ้าหนี้ โรงกลั่นน้ำมันระยองอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ทำให้ ปตท. ต้องเข้าไปเพิ่มทุนรักษาสมบัติโรงกลั่นไว้เป็นของคนไทย และแก้ไขสถานการณ์ได้จนถึงปัจจุบัน ธุรกิจปิโตรเคมีของไทย เช่น บริษัทไทยโอเลฟันส์ บริษัทอะโรเมติกส์ ก็เช่นกัน ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ ทางเลือกคือขายธุรกิจให้ต่างชาติ แต่ ปตท. ที่มีกำลังเงินจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้


การต่อสู้อันยาวนาน.......... ต้องขับเคี่ยวกับบรรษัทข้ามชาติระดับโลก ทั้งพลังงานและปิโตรเคมี ปตท. ได้ยกระดับความเข้มแข็งของตนเองจนต่อสู้ได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง ขยายสู่ธุรกิจวางท่อก๊าซธรรมชาติที่ช่วงเริ่มต้นไม่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชน เนื่องจากเวลาถึงจุดคุ้มทุนนานมาก ปตท. จึงเข้าดำเนินการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของชาติ ทำให้ตกกระไดพลอยโจนเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ แต่หลังจากนั้นเมื่ออุตสาหกรรมด้านพลังงานเริ่มพื้นตัว ก็มีเอกชนหลายรายสนใจมาลงทุนด้านนี้เพิ่มเติมด้วย


หากไม่ต่อสู้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน เราคงจะพบเจอแต่สถานีน้ำมันต่างชาติเรียงรายไปทุกถนน ปตท. กลายเป็นแหล่งใหญ่นำเงินรายได้ส่งรัฐ ตกปีละกว่าแสนล้านบาท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมพลังงานต่างให้ความเห็นว่า การแปรรูปเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่ได้ยกระดับ ปตท. ขึ้นมาเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ผู้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 68 เป็นสายเลือดไทย และมีการประเมินกันว่าถ้าไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปตท. วันนี้คงมีกำไรปีละ 30,000 - 40,000 ล้านบาท และคงไม่มีเงินพอจะไปซื้อบริษัทลูกต่างๆ ซึ่งคงตกไปเป็นของต่างชาติกันหมด  ถ้าพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานของประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย เวียดนาม ที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับบรรษัทน้ำมันข้ามชาติ ต่างพยายามให้การสนับสนุนและผลักดันบริษัทน้ำมันแห่งชาติของตนเองให้เข้าไปมีบทบาทในตลาดโลกด้วยการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้บริษัทมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะลงทุนไปกับโครงสร้างขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมพลังงานให้สามารถขับเคี่ยวในตลาดพลังงานโลกได้


การบริโภคพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเดินไปควบคู่กัน หากอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า เกิดสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจระส่ำระสาย คงจะมีการถามกันว่าที่ผ่านมา ปตท.ทำอะไรกันอยู่ ทำให้ ปตท. ได้วางงบประมาณลงทุนในปี 2551-2555 ไว้ 900,000 ล้านบาท และในปี 2555-2563 ต้องลงทุนถึง 4 ล้านล้านบาท ทั้งการสำรวจขุดเจาะหาแหล่งพลังงานสำรอง พลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. ต้องออกไประดมทุน (กู้เงิน) จากต่างประเทศด้วยเครดิตของตนเอง โดยไม่ต้องหวังขอเงินจากรัฐบาล ซึ่งจำนวนเงินมหาศาลขนาดนั้น รัฐจะได้เอาไปช่วยเหลือและเยียวยาเศรษฐกิจทางด้านอื่นๆ จะไม่ดีกว่าหรือ

นอกจากนั้นทุกครั้งที่นำเข้าก๊าซแอลพีจี ปตท. จำเป็นต้องสำรองเงินล่วงหน้าส่วนต่างแทนรัฐบาลไปก่อน ในขณะที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ดำเนินการได้เช่นกัน แต่ไม่มีใครอยากเจ็บตัว ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ต้องหาทางแก้ไขให้ประเทศมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ปตท.ก็ต้องเข้ามารับหน้าเสื่อให้ และเมื่อทาง กพช. มีมติเห็นชอบปรับราคาแอลพีจีเป็น 2 ราคา เพื่อชดเชยภาระการนำเข้าให้ ปตท. กลับมีการปลุกสาธารณชนให้งอแง เพราะคุ้นเคยกับราคาแอลพีจีที่ถูกบิดเบือนมาอย่างยาวนาน ปตท.จึงโดนกร่นด่าไปโดยปริยาย

การดำรงธุรกิจอยู่ได้ในโลกเสรีนิยมยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานนอกจากมีทุนเพียงพอในการขยายและพัฒนาธุรกิจแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเติบโตคือ การบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล และการที่บริษัทในกลุ่ม ปตท. ล้วนเป็นบริษัทมหาชน จะถูกตรวจสอบมากกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ ปตท. ทั้งกลุ่มเป็นบริษัทที่มีดีกรีที่นักลงทุนให้การยอมรับกันมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับการคว้ารางวัลแห่งความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติอย่างมากมาย ด้วยการที่เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสังคม




ปตท. เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทย ผ่านการแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กระแสบางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่า การขายหุ้น ปตท. ถือเป็นการเปิดประตูให้ทุนการเมืองเข้ามาฮุบกิจการของภาครัฐ แต่หากมองย้อนมาอีกทาง การเข้ามาเป็นบริษัทมหาชนได้เป็นผลให้ ปตท. ถูกตรวจสอบมากขึ้นและเข้มข้นขึ้นอีกจากทางภาคประชาชน และต้องดำเนินการตามกรอบหลักเกณฑ์ กติกาของตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ ปตท. เองก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเช่นเดิม จึงทำให้ภาคการเมืองจะต้องระมัดระวังตัวอย่างมากหากคิดจะเข้ามาแทรกแซงหรือแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน ดังนั้นหากเราตั้งใจกันจริงที่จะร่วมมือกันพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่การพัฒนาก่อให้เกิดคุณูปการกับประเทศชาติมากกว่าการสูญเสียจากความไร้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โดยไม่จำเป็น