ความเข้าใจผิดเรื่องแยก PTTOR ไม่ได้แปรรูป

ประเด็นที่ร้อนแรง และคิดว่าจะมีแค่คนบางกลุ่มที่เข้าใจผิดว่า การประกาศปรับโครงสร้างของกลุ่ม ปตท. คือการแปรรูป และเกิดการตั้งคำถามต่างๆ นานา ว่าอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ต่างๆ



ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การแปรรูป ปตท. โดยรัฐบาลมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่รัฐบาลนายกฯชวน (ปี 2540) ตามคำแนะนำของ IMF เพื่อลดภาระของรัฐจากวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนั้น และการโอนทรัพย์สินจากการปิโตรเลียมฯมาให้ บมจ.ปตท. ในปี 2544 ดำเนินการตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ (2542) และมติ ครม. ที่สอดคล้องกับความเห็นของสนง.กฤษฎีกา ในขณะนั้น

ดังนั้น การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. จึงไม่ขัดต่อกฎหมายแปรสภาพและจัดตั้ง บมจ. ปตท. เพราะการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (“พรบ. บริษัทมหาชนฯ”) กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. ในครั้งนี้ยังคงต้องได้รับการอนุมัติ จากหน่วยงานต่างๆ รวมถึง ครม. และที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท. ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย

โดยสาเหตุที่มีการปรับโครงสร้าง เพื่อช่วยสร้างความชัดเจน โปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท. ในสายตาสาธารณชน และเพิ่มความคล่องตัว รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันมากขึ้น และสร้างความกระจ่างในการที่ ปตท. มีส่วนได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจเนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ขณะเดียวกัน การนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับยิ่งทำให้ต้องเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทุกคนสามารถเข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลาและชัดเจนขึ้น ทั้งรายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร รวมถึงมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สิน และเงินลงทุน ตามที่เปิดเผยในงบการเงินของ PTTOR ใครๆ ก็เข้าไปดูได้

ถามว่ากระทบกับสถานะความเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของ ปตท. หรือไม่ ตอบว่าไม่ เนื่องจาก ปตท. ยังคงมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีกระทรวงการคลัง ในฐานะภาครัฐ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใน ปตท. เกินกว่าร้อยละ 51 และ ปตท.จะถือหุ้นใน PTTOR น้อยกว่าร้อยละ 45 ในทำนองเดียวกันกับการถือหุ้นในไทยออยล์ และ PTTGC

เรื่องการโอนทรัพย์สิน การปรับโครงสร้าง PTTOR ครั้งนี้ ผู้บริหารก็ออกมายืนยันว่าจะไม่มีการโอนทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิที่เกี่ยวข้องกับรัฐหรืออำนาจรัฐไปบริษัท PTTOR สำหรับกรณีท่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นไปยังจังหวัดต่างๆ นั้นเป็นทรัพย์สินของบริษัท Thappline และ FPT ที่ ปตท. ถือหุ้นอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์สินของ ปตท. โดย PTTOR จะมีสิทธิในการใช้ทรัพย์สินดังกล่าวในฐานะผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง ภายหลังการปรับโครงสร้าง

คำถามต่อมาคือ จะส่งผลต่อราคาน้ำมันหรือราคาขายปลีกเชื้อเพลิงหรือไม่ โดยหลักการแล้ว ทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการค้าเสรีเช่นเดิมเดิม คือ กลไกราคา ซึ่งปัจจุบันราคาขายปลีกพลังงานในประเทศ (น้ำมันและแอลพีจี) จะขึ้นลงตามกลไกตลาดโลก โดยเป็นกลไกตลาดเสรี แต่มีการกำกับดูแลของภาครัฐ โดยกระทรวงพลังงาน ที่วันนี้มีผู้ประกอบการกว่า 40 รายในตลาด ขณะที่ธุรกิจ LPG ก็ไม่ได้มีแค่ ปตท. ยังมีผู้ประกอบการกว่า 10 รายในตลาด เช่น ดับบลิวพี เอนเนอร์ยี่ และ สยามแก๊ส มีการกำหนดราคาแข่งขันกันทางอ้อมโดยการออกโปรโมชั่น การให้บริการต่างๆ แข่งกัน สะสมแต้ม แลกของ แถมน้ำ เป็นต้น

เรื่องการทำ IPO ของ PTTOR คิดว่าจะหมดเร็วหรืออะไรนั้น เชื่อว่า ปตท. ได้รับบทเรียนจากการกระจายหุ้นครั้งที่แล้ว และเตรียมแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิม ซึ่งในสารสนเทศที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ก็มีเขียนว่า ปตท. และ PTTOR จะวางแผนและกำหนดหลักเกณฑ์การกระจายหุ้นอย่างชัดเจนเพื่อให้มั่นใจว่าหุ้นของ PTTOR ในการ IPO จะกระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงมากที่สุด

ส่วนสุดท้าย หากพิจารณาในส่วนของรายได้เข้ารัฐ กำไรที่ได้ของ PTTOR จะต้องถูกนำมารวมในบัญชี หรือส่งมาให้ปตท. เพื่อนำส่งเข้ากระทรวงการคลัง ในรูปของภาษีเงินได้และเงินปันผลตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่แล้ว ถ้าทำรายได้มาก

ที่มา ความเข้าใจผิดเรื่องการแยก PTTOR