เสียงสะท้อนเล็กๆ ของเจ้าของปั๊มต่อการไม่เติม ปตท.

นี่คือเสียงสะท้อนเล็กๆ อีกเสียงที่เกิดขึ้นจริง ในภาวะที่คนไทย บอยคอตกันเอง ชังชาติกันเอง



งานของผม คือ การสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ เพราะธุรกิจที่ผมทำมีการแข่งขันสูงมาก ลูกค้ามีทางเลือกหลากหลาย ท่านใดที่เคยไปต่างประเทศ แล้วเคยแวะปั๊มน้ำมัน คงจะเห็นว่า ไม่มีที่ไหนที่มีปั๊มน้ำมันมากมายเท่าประเทศไทย เป็นการแข่งขัน เสรี ไม่มีการผูกขาด

รู้ไหมครับ ปั๊ม Shell ทีประกวดได้ที่ 1 ของโลก อยู่ประเทศใด 

คำตอบคือ Shell ประเทศไทย ปั๊มที่อยู่ อ. ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ที่อยู่ข้างหน้าผม 25 KM. แต่ถ้าถามลูกค้าที่เดินทางประจำจะรู้ว่าเขาเลือกใช้บริการปั๊มไหน เพราะอะไร?

แม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านไม่เติมน้ำมันที่ปั๊ม ปตท. แต่ผมยังคงทำหน้าที่บริการทุกท่านด้วยเป้าหมายเดิม คือสร้างความพึงพอใจกับลูกค้าทุกท่านให้ดีที่สุดที่มาใช้บริการ

ยังคงทำหน้าที่เป็นจุดบริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลสถานที่ให้มีความสว่าง ปลอดภัย ทำหน้าที่เป็นห้องรับแขกต้อนรับผู้ที่เดินทาง และนักท่องเที่ยวทำหน้าที่บริษัทฯ ที่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อชุมชน เป็นหน่วยงานที่เสียภาษีอย่างถูกต้องตลอดไป

ปล. ไม่ต้องกลัวผมตกงานหรอกครับ ยังไงผมคงหาโอกาสทางธุรกิจได้อีกหลายอย่าง แต่แค่ใจหายที่เห็น บริษัทน้ำมันของคนไทย ที่แข่งขันจนชนะคู่แข่งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้

แต่กลับถูกคนไทยที่ รักชาติ จงเกลียด จงชัง บริษัทน้ำมันที่ถือหุ้นโดยคนไทย 65% จนถึงขั้นรณรงค์ไม่เติม ไม่ใช้ กันทีเดียว



ไม่เติม ปตท. แล้วจะส่งผลเสียอย่างไร

การรณรงค์ไม่เติมน้ำมัน ปตท. แล้วถ้าเป็นผลขึ้นมาจริง คนไทยส่วนใหญ่ จะได้อะไรบ้าง



1. SMEs ขาดรายได้ เพราะ80% ของสถานีบริการและร้านค้าในสถานีบริการ รวมไปถึงร้านกาแฟอเมซอน เจ้าของคือตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ที่ดำเนินธุรกิจแฟรนด์ไชน์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในแต่ละจังหวัด รวมแล้วเกือบ3,000 ราย

2. กระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 56,000 ตำแหน่ง

3. ขาดกิจกรรมดีๆเช่นการสร้างสถานีบริการในรูปแบบมาตรฐาน ห้องน้ำสะอาด มีสวนสวย universal design เพื่อการเข้าถึงของทุกคน และแยกแลกยิ้ม กำจัดขยะแล้วนำรายได้มาดูแลชุมชน สนามเด็กเล่น ลานออกกำลังกาย

4. รายได้นำส่งรัฐฯลดลงเพราะ 65%ของผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาล เฉพาะเงินปันผลปีที่แล้วก็กว่า 50,000 ล้านบาท ที่เป็นรายได้ของรัฐฯใช้ไปในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ยังไม่รวมภาษีรายได้ประจำปี ที่รัฐได้จากกำไรของการดำเนินธุรกิจ

5. ลดความเชื่อถือของแบรนด์ไทยเวลาขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เพราะปัจจุบันความนิยมของสถานีบริการ ปตท.ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศและการที่ ปตท.ไปสำเร็จในต่างประเทศก็จะช่วยดึง SMEs ไทยเติบโตตามไปด้วย สร้าง Thailand Brandจะเป็นเช่นไร

สุดท้ายการทำเช่นนี้แล้วราคาน้ำมันในบ้านเราจะลดลงหรือไม่ แล้วเราทำไมไม่รณรงค์ให้เลิกใช้น้ำมัน อย่างน้อยก็ประหยัดการใช้น้ำมัน ประเทศไทยก็จะไม่ต้องเสียรายได้ให้ต่างประเทศ และเราก็ลดการใช้เงินในกระเป๋าเรา

ใจเย็นไว้ ถ้าไม่เจอชื่อ ปตท. ในการนำส่งรายได้รัฐ เพราะเหตุผลต่อไปนี้

ไม่ต้องแปลกใจ หากเจอข่าวในทำนองที่ว่า สคร.จัดเก็บรายได้จากรัฐวิสาหกิจ 4 เดือนแรก สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 35 ช่วยรักษาเสถียรภาพการคลัง


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2561 สคร.จัดเก็บรายได้แผ่นดิน 7,252 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายการจัดเก็บรายได้แผ่นดิน 3,357 ล้านบาท ส่งผลให้มีรายได้แผ่นดินสะสม 4 เดือน  50,646 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายรายได้แผ่นดินสะสม 12,994 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ซึ่งมีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพการคลังของประเทศ 

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร.ในฐานะโฆษก สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สะสมสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารออมสิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์  (ธอส.) อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจมีการนำส่งที่สูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2561 เนื่องจากประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาปรับปรุงกระบวนการทำงาน ส่งผลให้ผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจดีขึ้น

และจากข่าวด้านบนในการนำส่งรายได้เหล่านั้น ไม่มีรายชื่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ด้วย



ซึ่งถ้าคนที่เข้าใจในรายละเอียดการนำส่งรายได้รัฐของกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ในอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะมีการชี้แจง และ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ทุกปี ในที่นี้ใช้ว่า การจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล

สรุปสั้นๆ คือ ที่ไม่มีรายชื่อ ปตท. ในการจ่ายเงินตามรอบที่ทาง สคร. ได้ให้ข่าวนั้นคือ รอบบัญชีการจ่ายเงินของทาง ปตท. คือ 6 เดือน จะนำส่ง 1 ครั้ง (ตามข่าวคือ 4 เดือน จึงไม่มี ปตท. รวมอยู่ด้วย)

ที่มา จดหมายแจ้งจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล https://www.set.or.th/set/newsdetails.do?newsId=15030128815211&language=th&country=TH


ตัวอย่างรายงานประจำปี แจ้งการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล http://ptt-th.listedcompany.com/misc/shareholderMTG/agm-2017/20170328-ptt-agm-2017-invitation-th.pdf

*เงินปันผลระหว่างกาล คือเงินปันผลที่กรรมการมีมติจ่ายในระหว่างรอบปีบัญชีเมื่อพิจารณาแล้วว่าบริษัทมีกำไรพอสมควรที่จะจ่ายได้ ปพพ.ม.1201 วรรค 2*

อย่าลืมว่า รัฐวิสาหกิจที่นำเงินส่งรัฐประจำปีงบประมาณ ในปี 2560 ทาง ปตท. นำส่งรัฐ เป็นอันดับสอง รองจาก สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หมายเหตุ ยังไม่รวมภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ปตท.ส่งให้กรมสรรพากร

รัฐวิสาหกิจที่มียอดเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสมประจำปีงบประมาณ 2560 สูงสุด 5 อันดับแรก
รัฐวิสาหกิจที่มียอดเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสมประจำปีงบประมาณ 2560 สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 30,948 ล้านบาท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 26,278 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 21,660 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 13,118 ล้านบาท และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 11,384 ล้านบาท

รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1.62 แสนล้านบาท ** หมายเหตุ ยังไม่รวมภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ปตท.ส่งให้กรมสรรพากร


หรือถ้ารวมภาษีนิติบุคคลจะเห็นได้ว่า ทาง ปตท. นำรายได้ส่งรัฐสูง 54,746 ล้านบาท และถ้านับตั้งแต่แปรรูปจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)จะพบว่า รายได้ ปตท. นำส่งรัฐสูงถึง 7.3 แสนล้านบาท (2544-2559) เลยทีเดียว