ปั๊มสามทหาร เกริ่นนำ

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

ขอทราบประวัติปั๊มน้ำมันสาม ทหาร ในอดีตอยู่ใกล้ศาลหลักเมือง สนามหลวง ปัจจุบันนี้ เปลี่ยนชื่อใช่หรือไม่ 

จาก บุญชัย ใบชุน


หนังสือ20 ปี พลังไทยเพื่อไทย โดยปตท. ย้อนอดีตไปในสมัย ร.5 ว่าเป็นยุคที่เริ่มมีถนน ไฟฟ้า รถราง เมื่อปี 2435 บริษัท น้ำมันต่างชาติที่เข้ามาเป็นบริษัทแรก คือ บ.รอยัลดัทช์ ปิโตร เลียม จำกัด เพื่อจำหน่ายน้ำมันก๊าดเพราะมีเขม่าควันน้อยและให้แสงสว่างกว่าน้ำมันมะพร้าวซึ่งต้องนำเข้าน้ำ มันจากต่างประเทศ
ต่อมา พ.ศ. 2439 พระยาสุรศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ นำรถยนต์คันแรกมาวิ่งบนถนน อีก 6 ปีต่อมา จึงมีรถเมล์ขาวและเริ่มนำน้ำมันเบนซินมาใช้โดยบริษัทน้ำมันต่างชาตินำน้ำมันต่างๆ มาจำหน่าย
กระทั่ง พ.ศ.2476 กระทรวงกลาโหมจัดตั้งแผนกเชื้อเพลิง ขึ้นมาเพื่อจัดหาน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าดและน้ำมันหล่อลื่น จากนั้นอีก 4 ปี จึงเปลี่ยนเป็นกรมเชื้อเพลิง และก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันที่ช่องนนทรีเพื่อขจัดปัญหาน้ำมันขาดแคลนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้บริษัทน้ำมันต่างชาติหยุดค้าน้ำมันในไทย แต่หลังยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องยุบกรมเชื้อเพลิงและขายกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติซึ่งเป็นบริษัทในเครือของประเทศผู้ชนะสงคราม ไทยต้องให้บริษัทต่างชาติเข้ามาจำหน่ายน้ำมันทั้งหมด
ในที่สุด ปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรียกเลิกข้อผูกพันที่ทำไวักับบริษัทต่างชาติเรื่องห้ามมิให้รัฐบาลจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแก่ประชาชนและตั้งองค์การเชื้อเพลิง เป็นรัฐวิสาหกิจในวันที่ 27 ม.ค. 2503 โดยใช้สัญลักษณ์ตราสามทหาร เพื่อดำเนินสถานีบริการน้ำมัน จัดหาและกลั่นน้ำมัน
ในยุควิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี 2516-2517 น้ำมันราคาแพงมากและขาดแคลนไปทั่วโลก ไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะไม่มีแหล่งปิโตรเลียมเป็นของตนเอง จึงเริ่มมองหาแหล่งพลังงานปิโตรเลียมในประเทศ กระทั่ง พ.ศ. 2520 มีการจัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย (อกธ.) ขึ้นเพื่อพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและในปี 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี มีการตรา พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย นับเป็นองค์กรของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปิโตรเลียมของไทยขึ้นโดยตรงเป็นครั้งแรก 
ปั๊มน้ำมันที่ใช้ตราสามทหารจึงค่อยๆ เลือนหายไป คนไทยจึงคุ้นชินกับตรา ปตท. แทนจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน ยังมีปั๊มน้ำมันสามทหารหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่สวนคุณธรรมสมานสามัคคี ถ.อินทยงยศ แยกประตูลี้ อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นปั๊มน้ำมันสามทหารเดิม เมื่อเลิกกิจการแล้วถูกปล่อยให้รกร้าง กระทั่งปี 2550 กลุ่มชมรมชมรมหริภุญไชยคลับและทีมงานพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนจึงรื้อฟื้นชีวิตของปั๊มน้ำมันสามทหารขึ้นใหม่โดยประสานกับ ปตท. ขอให้เก็บพื้นที่และการติดตั้งหัวปั๊มหรือห้องขายไว้ตามเดิม โดยทางกลุ่มเป็นผู้จัดหาวัตถุจัดแสดงมาใส่ไว้ในพิพิธภัณฑ์ ส่วนหนึ่งหาจากนักสะสมของเก่าในโค้กไทยดอตคอม



โดย น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.comฟ

จากสามทหารสู่ปตท (3)

จากสามทหารสู่ปตท (3)



เป็นอย่างไรครับ วัน Judgement Day ของ ปตท. 

เป็นไปตามคาดหรือไม่ คงยังมีเรื่องราวที่ต้องสะสางกันอีกสักพัก 
ระหว่างสุดสัปดาห์ก็พาใจสบายๆ คิดเรื่องอื่นบ้างดีกว่า 
เช่น ใกล้เลือกตั้งแล้ว ใครจะมาเป็นนายกหว่า... 
เฮอ..อนาคตประเทศไทย 

เอ้า มาต่อเรื่องราวของ ปตท.ต่อ ที่กูรูยังค้างติดไว้นิดๆ 


ความจริงหมดจากโครงการรณรงค์การใช้ก๊าซหุงต้มแล้ว 

กูรูเองก็ไม่มีอะไรต้องเกี่ยวข้องกับ ปตท.โดยตรงนัก 
เพียงแต่เฝ้ามองห่างๆในฐานะของคนเคยร่วมงาน ร่วมชะตากรรม
และร่วมน้ำสาบานเอ๊ยน้ำซดสัมตำกันมา 
ในแวดวงที่ทำงานอยู่บางครั้งก็โฉบเฉี่ยวผ่านๆบ้างเหมือนกัน 

ปฎิเสธไม่ได้ว่า โฆษณาประชาสัมพันธ์ก็เป็นอีกเหลี่ยมมุมหนึ่ง

ที่จะขับความทันสมัยของผลิตภัณฑ์ออกมาให้เห็น 
ขณะนั้น ปตท. ในสายตาของทุกคน...โค...เชยมากๆ ทุกคนยังติดภาพน้ำมันสามทหาร เต่าคลานช้าๆ.... 
ตัวปั๊มหรือก็ไม่สดใสเอาเสียเลย 
ไปต่างจังหวัดทีไร ปตท.เป็นปั๊มสุดท้ายที่จะเข้า 
โชคดีที่มีไม่มาก มิฉะนั้นชื่อเสีย(ง)คงยิ่งขจรขยาย 

ขณะนั้นปั๊มอันดับหนึ่งที่มีจำนวนมากที่สุดคือเชลส์ ตราหอย 

สะท้อนออกในภาพยนตร์โฆษณาเรื่องหนึ่งที่เป็นพี่น้องสองคน 
ตั้งหน้าตั้งตาเล่นนับปั๊มเชลส์ตั้งแต่ออกเดินทางจนม่อยหลับ 
ตั้ง 300 กว่าปั๊มแน่ะ 

ด้วยภาพลักษณ์ของปั๊มที่สดใส มีพลัง แดง เหลือง 

และคำพูดติดปาก “เชลล์เต็มถังมั้ยครับ” 
เออ..เออ.. ถ้าเรากำลังเผลอไผลคิดเรื่องอื่นอยู่ก็อดพยักหน้าไม่ได้ 
มาสะดุ้งตกใจเมื่อเห็นบิล 
เพราะฉะนั้นเวลาเข้าปั๊มเชลส์ต้องตั้งสติให้มั่น อย่าใจง่ายเด็ดขาดครับ 
กิจการของเชลส์ดูก้าวหน้าและเป็นปั๊มยอดนิยม ขวัญใจคนไทย 
แม้จะมีพลาดท่าเสียทีในกรณี น้ำมันรุ่น 9404 
(ไม่แน่ใจ ขอผู้รู้แก้ไขด้วยครับ หาข้อมูลในเน็ทก็ไม่เจอ)) 
ที่เพิ่งออกตัว แล้วระเบิดขึ้นมาทำให้รถยนต์เสียหาย (ในต่างประเทศ) 
แต่บริษัทก็แก้เกมส์ทันท่วงที โดยระงับการจำหน่ายและออกตัวใหม่ทันที
ภายใน 2 วันนับจากเกิดขึ้น 
Crisis Management เยี่ยมจริงๆ 

ด้านเอสโซ่หลังจากจับเสือหมกเอ๊ยใส่ถังพลังสูงมานาน 

จนเสือง่อยอยู่เป็นปี ก็ขอเริ่มออกอาละวาดใหม่ 
โดยเปลี่ยนแคมเปญและเปลี่ยนเอเยนซี่โฆษณารายใหม่ 
ขอให้จำชื่อนี้ไว้นะครับ คือ ลีโอ เบอร์เน็ท 
เจ้าของปณิธาน ไขว่คว้าหาดวงดาว 
ด้วยความเชื่อที่ว่า 
"จงเอื้อมมือไขว่หาดวงดาวเสมอ แม้ไม่ได้มาสักดวง อย่างน้อย...มือคุณก็ไม่มีวันเปื้อนดิน" 

ลีโอ เบอร์เน็ท ปรับภาพลักษณ์ใหม่ของ เอสโซ่ให้ดูน่าเชื่อถือ 

มีพลังด้วยภาพยนตร์ซีรีสยาว 4 ชุด ฉายต่อเนื่อง ฮือฮาเป็นประวัติการณ์ 
และหนึ่งในชุดที่โด่งดังที่สุดก็คือ ลุงคำแก้ว 
พอจะจำได้มั้ยเอ่ย ลุงคำแก้วเป็นพนักงานขับรถเอสโซ่..... 

แคมเปญเสือเผ่นทะยานของเอสโซ่ได้เขยิบสถานะของบริษัทขึ้นมาสูสีกับเชลส์ได้ 

ในวงการน้ำมันก็ดูๆกันว่า ระหว่างหอยกับเสือ (อังกฤษ-ดัชท์ กับ อเมริกัน)ใครจะขยี้ใครก่อน 
ส่วนคาลเทกซ์ หลังจากออกแคมเปญ แรงอย่าง CX -3 ก็ไม่ค่อยมีแรงเหลือสู้เท่าไหร่ 

ผลงานของลีโอ เบอร์เน็ท เข้าตาผู้ชมหลายคนรวมทั้งผู้บริหาร ปตท. 

หลังครบเทอมกับเอเยนซี่เจ้าเก่า ปตท.ก็เลยเปิดทางให้ประมูลเสนอผลงานใหม่ 
อุตส่าห์พยายามหาข้อเลี่ยงต่างๆเพื่อให้เอเยนซี่ต่างชาติได้เข้าร่วม 
เพราะมีกฏระเบียบกำกับว่า
รัฐวิสาหกิจจะต้องใช้บริการจากหน่วยงานคนไทยด้วยกัน
ก่อนจะไปใช้ของเมืองนอก (ถ้าคุณภาพงานเท่าๆกัน บริษัทคนไทยจะถูกรับเลือกก่อน) 

และลีโอ เบอร์เน็ท ก็ต้องจำใจกล่าวอำลากับเสือคู่ใจที่ปลุกปั้นขึ้นมา 

เมื่อได้ลูกค้ารายใหม่คือ ปตท. (เงินหนากว่า) 

จากวันนั้นก็ได้เป็นเอเยนซี่ที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับ ปตท. 

ไม่ว่าจะเป็นการ ออก Unleaded มนุษย์สารตะกั่ว มนุษย์หนืด ก๊อดซิลล่า ฯลฯ 
แต่หนึ่งในความภูมิใจที่ประทับใจคนดู 
ก็คือภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติในหลวง 
ที่จับเรื่องของคุณครู สมบูรณ์ เสรีเวสารัตน์ มาใส่ในฟิลม์ภาพยนตร์ 

“หลายคนย้ำนักย้ำหนาว่าคลองตาปี จระเข้เยอะ.. 

ทุกคนห้ามหมดเขาว่าผู้หญิงตัวคนเดียว จะอยู่อย่างไรไกลขนาดนั้น.." 
"ก็เลยบอกว่าขอเถอะ อยู่แค่ 4 - 5 ปีเอง เดี๋ยวกลับ.. 
ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าจะเป็นทั้งชีวิต เพียงเพราะแววตาของเด็ก ๆ ที่มองเรา…" 
"ที่นี่ อะไร อะไร ก็ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน บางทีก็น้อยไป บางทีก็มากไป.. 
ฉันตัดสินใจเลือกที่นี่ ก็เพราะฉันเห็นในหลวงท่านยังมาได้…" 
"ท่านเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศ..และเราล่ะ จะทำสิ่งเล็ก ๆ แค่นี้ไม่ได้เชียวหรือ…!?! 

เล่ากันว่า ทีมงานเลือกผู้แสดงคุณครูคนเดียว 

ที่เหลือไปหาเอาที่สถานที่ถ่ายทำจริง 
ปรากฏชาวบ้านทุกคนพอรู้ว่าเป็นหนังเทิดพระเกียรติ 
ขอเสนอตัวเข้ามาเล่นฟรีๆกันหมดทั้งหมู่บ้าน 
เพื่อไม่ให้เสียน้ำใจ กองถ่ายก็เลยถ่ายฉากโน้นบ้าง ฉากนี้บ้าง 
ให้ชาวบ้านได้เล่นนิดเล่นหน่อย(แต่จริงๆไม่ได้ออกอากาศหรอก) 
ถึงทุกวันนี้ เรื่องของคุณครูสมบูรณ์ 
ดูเหมือนจะเป็นหนังเทิดพระเกียรติในหลวงเรื่องเดียวที่ฉีกออกมาจาก 
บรรดาภาพยนตร์ถวายพระพรทั้งหลาย 

ทุกวันนี้ ปตท.ได้ปรับเปลี่ยนและแบ่งงานให้กับเอเยนซี่หน้าใหม่ๆที่เข้ามารับงาน 

แต่ลีโอ เบอร์เน็ทท ถือเป็นผู้ที่พลิกโฉมหน้าใหม่ของ ปตท. 
จากความเชยครึ ราชการมาเป็น ปตท. ที่เรารู้จัก

เอวัง..ที่เหลือเพื่อนๆก็คงประจักษ์เองได้แล้ว 


ปิดม่านแล้วครับ 


จากสามทหารสู่ปตท.(2)

จากสามทหารสู่ปตท.(2)



เอ้า ม่านเปิดฉากแล้ว 
ละครย้อนอดีตก๊าซ ปตท. 
หมายเหตุ พนักงานหรือคนทำงานปตท. ปัจจุบันอาจจะแสลงใจเล็กน้อย 
แต่ขอให้คิดเสียว่านั่นเป็นอดีตกาลนานนมกาเลไปแล้ว 

เมื่อประมาณปี 2526 แถวๆนั้น 
ปตท. หลังจากที่รวมหน่วยงาน 2 แห่งดังที่กล่าวเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว 
พร้อมปัญหารอยเชื่อมสนิมที่ไม่สนิทอีรุงตุงนังในหมู่พนักงาน 
องค์กรก็ประกาศเดินหน้าพัฒนาธุรกิจใหม่ๆนั่นก็คือ ก๊าซหุงต้ม ปตท. 

ตลาดก๊าซหุงต้มขณะนั้นต้องยกให้เชลล์ ตราหอย 
เพราะอยู่ในตลาดมาก่อน ทำการตลาดต่อเนื่อง 
ที่สำคัญทำป้ายเชลล์ชวนชิม ติดหนึบหนับในหมู่นักโภชนาการ 
ไปร้านไหนมีกอเอี้ยะ..เอ๊ย ไม่ใช่ แผ่นป้ายนี้ รับรองลูกค้าตรึม 
(ระยะหลังๆเลยเกิดกิจการซื้อแผ่นวิเศษนี้กันขึ้น จริงไม่จริงต้องไปถามหม่อม..) 

เห็นดังนี้แล้ว ปตท.หรือจะน้อยหน้า 
อาศัยพี่หอยกรุยทาง ให้ความรู้ผู้บริโภคถึงการประกอบอาหารในครัวเรือนด้วยก๊าซหุงต้มไปแล้ว 
น้องปอก็ขอแค่ตามติด แต่..ไม่มีช่องว่างเหลือแล้วนี่หว่า 
โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล 
กระนั้นเลย คงต้องออกไปหากินหัวเมืองแทน 
ไหนๆเราก็มีปั๊มน้ำมันอยู่เยอะแยะ ตาแปะไก่ ไม่แพ้น้ำมันหอย 
ก็เป็น Outlet ให้เติมก๊าซไปในตัวดีกว่า 

แต่ปัญหาของชาวต่างจังหวัดก็คือ ก๊าซเป็นเรื่องใหม่ 
ยุ่งยาก วุ่นวาย และแพง 
สู้ใช้ถ่านไม้เดิมๆดีกว่า หาก็ง่าย เข้าป่าไปแป๊ปเดียว 
เผาๆคุๆก็ระอุเอามาใช้งานได้แล้ว 
ไม่ต้องขนถังไปเติมนอกหมู่บ้าน 
ขนไปขนมาเปลืองน้ำมันอีกต่างหาก 

ขณะนั้น กูรูเพิ่งวัยละอ่อน ทำงานอยู่บริษัทวิจัยและพัฒนา 
ซึ่งไป sub contract ปตท. มาอีกต่อ 
ถึงไม่ใช่พนักงานโดยตรง ก็ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับคน ปตท. 
จนต้อง...เฮอ..นึกภาพอนาคตไม่ออกเลยกับองค์กรนี้ 
(ขอย้ำเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว) 

แผนการการรณรงค์ใช้ก๊าซ เริ่มด้วย Pilot Project ก่อน 
คลี่แผ่นที่แล้วจิ้มดูว่ามีสถานีใหญ่ของ ปตท.ที่ไหนบ้าง 
ปรากฏเป็นที่ ลำปาง ขอนแก่น สุราษฎร์ และนครสวรรค์ 
แล้วเราก็เริ่มแพ็คของออกเดินทางไปตามหมู่บ้านรอบนอกของจังหวัดต่างๆเหล่านี้ 

สิ่งที่หน่วยสาธิตต้องทำก็คือ ทำ Event Marketing ย่อมๆ 
ขับรถตระเวณไปจุดสาธิตซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตลาด ชุมชน 
เป่าโทรโข่งเรียกชาวบ้านชาวช่องมาดูมหัศจรรย์บันเทิง 
การใช้ก๊าซหุงต้มประกอบอาหาร 
สะดวก สะอาด ปลอดภัยอย่างไรเป็นต้น 
ใบปลิวก็แจกไป คนพูดก็พูดไป 
แรงงานที่เหลือก็ยกหม้อ(อาหาร)ของชาวบ้านมาอุ่นร้อนบนเตา 
ให้เห็นว่าดีแค่ไหน 
ผลปรากฏ ชาวบ้านชอบใจที่ได้อุ่นอาหารฟรีๆ 
แล้วก็กลับไปดำเนินกิจกรรมต่อ ไม่สนใจก๊าซอะไรทั้งสิ้น 

ทำอย่างนี้สักพัก ชักไม่ไหว 
รอบเดียวก็เกินพอ รอบต่อมาชาวบ้านหายหด 
ต้องหาอุปกรณ์เสริมอื่นๆเช่น เล่นเกมส์ตอบปัญหา ร้องเพลง 
เปิดมินิคอนเสิร์ต เป็นต้น 
ชะวุ้ย กูรูก็ได้เป็นศิลปินหางเครื่องกับเขาคราวนั้นนั่นแหละ 
ตอนนั้น เพลง เหล้าจ๋า กับหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ ฮิตมากๆ 
ทำอย่างนี้ไปแทบทุกพื้นที่ จนคนจำหน้าได้ 
บ่ายวันหนึ่ง วันอาทิตย์ ไปสาธิตตามที่นัดหมายไว้ ปรากฏเงียบฉี่ 
ไม่มีใครออกมาเลย ถามไปถามมาถึงบางอ้อ..ทุกคนติดดูมวยกันอยู่ 
ตะโกนเรียกเสียงแหบแห้งแค่ไหน ก็อยู่ตรงนั้นแหละ จ๋อยเลย 

แต่การลงพื้นที่นี่ชอบจริงๆ 
ได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้านรากหญ้าว่าอยู่อย่างไร 
บางบ้านถึงกับเด็ดมะละกอดิบบนต้น มาตำส้มตำแซ่บๆให้กินกันเดี๋ยวนั้นเลย 
เออ..กูรูเปิบส้มตำไป ในใจก็คิดว่า 
แล้วกรูจะมาให้พวกบักเพื่อนเหล่านี้ใช้ก๊าซทำไม 
อาหารพื้นบ้านของพวกเขาอย่างส้มตำ ยำ น้ำพริกก็ไม่ต้องใช้ก๊าซเลย 
ข้าวเหนียวก็นึ่งใช้เศษกิ่งไม้แห้งๆง่ายๆ 
วันๆแทบไม่ต้องใช้เงินเล้ย 
ฮืมม์ ไม่เป็นไร บอกตัวเอง ไม่ใช้วันนี้ วันหน้าอาจจะใช้ 

เพื่อนร่วมทีมของเรามีทั้งส่วนบริษัทที่กูรูสังกัด 
และเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานของ ปตท.สายตรง 
แรกๆก็เขอะๆเขินๆ สงวนท่าที 
ต่อเมื่อร่วมกินส้มตำครกเดียวกันหลายมื้อก็เป็นพี่น้องร่วมสาบาน(ต่อหน้าครกสัมตำ)กันในไม่ช้า 
ลุยไหน ลุยนั่น และก็เห็นปัญหาว่า 
สงสัยธุรกิจก๊าซยังอีกไกล ในที่ไกลปืนเที่ยงเช่นนี้ 
แต่ระดับผู้ตรวจการซิ ชาตินี้...ไม่ขอสาบานด้วยหรอก 
ต่อให้กินส้มตำครกเดียวกันกี่ครกก็เถอะ 

ตามแผนงานทุก Site จะมีผู้ตรวจการระดับอาวุโส(หน่อยๆ)มาดูทีมงานทำงาน 
และก็เป็นเช่นผู้ตรวจการราชการที่มาถึงปุ๊ป หาข้อบกพร่องทุกอย่าง 
ทำไมไม่ทำอย่างโน้น ไม่ทำอย่างนี้ ทำงานเป็นหรือเปล่า 
เสร็จแล้ว คุณๆท่านๆก็ไปจิบเบียร์ในสวนอาหารตั้งแต่บ่าย จนค่ำก็...เหล้า 
ใครจ่าย...ไม่มีทางหรอกที่คุณท่านทั้งหลายจะจ่ายเอง โน่นให้ทีมงานจ่าย 
หรือถ้าผู้ใหญ่ของกูรูมาด้วย กระเป๋าหนักหน่อยก็จ่ายให้ 
เป็นเช่นนี้ทุกที่ไป 
มีครั้งหนึ่ง เกี่ยง...ไม่ยอมจ่ายกัน 
(กูรูเป็นผู้น้อย ไม่สมควรจะหักหน้าใคร) 
คนขับรถทนไม่ไหว ควักตังค์ออกมาจ่ายให้เห็นๆ 
มารู้ทีหลังว่า เป็นเบี้ยเลี้ยงทั้งหมดที่ตัวเองตกเบิกมา 
(กลับไป โดนคนที่บ้านบิดหูชาแน่) 

เมื่อกลับมากรุงเทพฯก็มีการรายงานถึงความล้มเหลวในการรณรงค์ 
จนทีมงานกันเองเกือบจะต่อยหน้ากันในห้องประชุมต่อหน้าผู้ใหญ่ 
แห่ะ แห่ะ โชคดีกูรูไม่ได้อยู่ ด้วยอาวุโสไม่ถึง 
ไม่งั้นต้องทำตัวเป็น “บ่าง” ยุยงให้แตกกว่านี้ 
พร้อมกับนึกไม่ออกเลยว่า ใครจะอยู่ทำงานที่นี่ไหว 
เพื่อนๆ ปตท.ที่ร่วมทริปก็จะออกกันหมดแล้วไปอยู่ตราหอย กับ เสือในถัง 

เอาล่ะ นั่นเป็นเรื่องของคนในองค์กรเขา 

มาดูเรื่องตื่นเต้นสนุกๆดีกว่า 
ครั้งหนึ่งต้องลงไปสุราษฎร์ เขตสีชมพู 
เจ้านายถาม กล้าไปหรือเปล่า 
เออ...จะตอบว่ากระไรดี ถ้าเราไม่ไป คนอื่นก็ต้องไป 
เป็นลูกจ้างเขาก็อย่างนี้แหละ บอกให้ไปตายเอ๊ยลุยที่ไหนก็ต้องไป 
ไปถึงหมู่บ้าน ทำการสาธิตเสร็จก็โพล้เพล้ รีบกลับดีกว่า 
เพราะรถที่ขับก็มีตรา ปตท. ไม่ปลอดภัยแน่ๆถ้าอยู่ในเขตนี้ 
คนรถบอกมีทางลัด ออกจากเขตได้เร็วกว่า 
ขับไปขับมา หลงทาง ฟ้าก็มืด รถยังวนเวียนอยู่ในป่า 
ถามชาวบ้าน บอกให้ขับตรงไปจะเจอสะพานข้ามออกลัดสู่ถนนใหญ่ได้ 
เฮอ โล่งใจ 
แต่ประทานโทษ พอขับใกล้เข้ามา เจ้าสะพานที่เห็นน่ะ 
แค่ท่อนซุง 2 ท่อนวางแปะอยู่ 2 ฟากฝั่ง 
มองไปข้างล่าง....เหว ครับพี่ 

ทุกคนมองหน้ากัน หน้ามอมๆซีดเผือดไปหมด หายง่วงงุนทันที 
คิดสาระตะ..เอาฟะ เสี่ยงเป็น เสี่ยงตาย ดีกว่าถูกฝังในป่า 
ทีมงานลงจากรถ แสร้งหัวเราะให้กำลังใจ 
กลั้นหายใจ เดินไต่ซุงทดสอบน้ำหนักทีละคนๆ 
จนข้ามไปฝั่งตรงข้ามได้ พอไหวน่า... 
หันไปชูนิ้วโป้งให้คนขับ 
คนขับรถขอสูบบุหรี่มวนหนึ่ง เรียกความมั่นใจ 
แล้วสตาร์ทเครื่องค่อยๆไต่ซุงทั้ง 2 ท่อนอย่างช้าๆ 
ท่ามกลางเสียงไม้ปะทุแคระ แคระ.. 
บางคนในทีมงานมาบอกทีหลังว่า แอบสวดมนต์อรหันต์ สัมมาอยู่ในใจ 
จนในที่สุดล้อที่สี่ก็หลุดออกมาซุงมาอยู่บนอีกฝั่งได้ 
คืนนั้นพวกเราเลี้ยงฉลองกันยกใหญ่ 

หลังจากจบ Pilot Project ซึ่งกินเวลาประมาณปีกว่าๆ 
โครงการก็สิ้นสุดลง ปตท.เริ่มจำหน่ายก๊าซทั่วประเทศ 
ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกะจิดริด 
ตราหอย ยักษ์ผู้พี่เมินหน้ามามองแวบๆแล้วก็ไม่สนใจ 
ถึงวันนี้ ตราหอยก็หายไปแล้ว 
และผู้ที่ถูกทิ้งห่างปลายแถวอย่างปตท. กลับผงาดขึ้นมาแทน 

แน่ล่ะบุคคลากรยุคเก่าๆก่อนพวกเจ้าขุนมูลนายก็น่าจะหายไปด้วย 

แต่กูรูยังไม่หายคร้าบ... 
ซุง 2 ท่อนในป่าลึกเขตสีชมพู นำพาให้กูรูรอดมาได้ 
มาเขียนเรื่องเล่าให้พวกเราฟังอยู่ได้ถึงวินาทีนี้

เครดิตโดย: กูรูขอบสนาม 

จากสามทหารสู่ ปตท.(1)

จากสามทหารสู่ ปตท.(1)

เผอิญไปเจอกระทู้หนึ่งพูดถึงอดีตของปั๊มน้ำมัน ปตท. คือ ปั๊มสามทหารเก่าๆโทรมๆ
ก่อนจะมาเป็น ปตท. วันนี้ ลองค้นหารูปมาประกอบ ไม่ทราบจะโหลดหรือเปล่า
เอ้า ลองดูครับ



หมายเหตุ ในรูปนี้ ปั๊มถูกบูรณะใหม่ให้เป็นกึ่งพิพิธภัณฑ์เลยดูสดใสเหมือนร้านสะดวกซื้อ


เออ เลยนึกขึ้นได้เราก็อยู่ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงด้วยนี่นา
ขอมาเล่าบ้าง อันนี้ไม่เกี่ยวกับกรณีพิพาทใดๆในชั้นศาลทั้งสิ้น
เริ่มเลยนะคร้าบ...

"สามทหารไทย สามทหารไทย ไตรรงค์ยิ่งใหญ่ในแหลมทองไทย ชาวบ้านก็ไทย คนใช้ก็ไทย..."จำไม่ได้แล้ว กระท่อนกระแท่นเต็มที แต่ฟังๆดู ไม่ค่อยเป็นเพลงปั๊มน้ำมันเลยนะ 

แต่เอาเถอะ ความยิ่งใหญ่ของ ปตท. เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล พลเอก เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี
ที่ริเริ่มโครงการพลังงานเพื่อไทย (ทั้งๆทีองค์กรเกิดขึ้นในสมัย 2521 รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์)
เด็กๆเราคงจำกันได้ถึงสโลแกน "โชติช่วงชัชชวาล พลังงานบริสุทธิ์จาก ปตท" เสียงจากคุณจ้อ...โฆษกคนเก่ง พิชัย วาสนาส่ง อยากรู้มั๊ยว่าใครเป็นคนคิด...ไม่บอกหรอก
แข่งกับสโลแกนของบริษัทน้ำมันฝรั่งตอนนั้น 
ทั้งไปได้สวย ไปด้วย"เชลล์" 
"เอสโซ่" จับเสือใส่ถังพลังสูง 
"คาลเท็กซ์" ไปไกลกว่า รักษาเครื่อง ไม่เปลืองเงิน

การขยายการลงทุนมหาศาลของ ปตท. ขณะนั้น จะว่าไปก็เป็นกุศโลบายทางการเมืองด้วย เพื่อยืนยันเศรษฐกิจที่ยังเข้มแข็งในเมืองไทย เพราะขณะนั้น กลัวโดมิโน Effect กันมากในแถบอินโดจีน
อาศัยความเป็นรัฐ ปตท.เลยสามารถเข้าไปถือหุ้นในกิจการน้ำมันต่างๆของต่างชาติได้
ลำพังตัว ปตท.เองโดดๆอาจจะแข่งขันลำบาก หรือไม่ก็ปรับตัวได้ไม่ไวเท่า เพราะอย่างไรเสียฝรั่งอย่างเชลล์ คาลเท๊กซ์ เอซโซ่ มีเทคโนโลยีใช้ก่อนหน้าอีกทั้งระบบก็แข็งปึกมาเป็นสิบๆปี

แรกทีเดียว คนปตท.กว่าจะกลมกลืนกันได้ก็แทบจะบู๊กันจะจะ
เพราะเป็นการรวมคนจาก 2 หน่วยงานเข้าด้วยกัน
คือ องค์การเชื้อเพลิงซึ่งสังกัดกรมการพลังงานทหาร
และองค์การก๊าซธรรมชาติ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
แค่คนในกระทรวงเดียวกันก็ยังจะทะเลาะจะเป็นจะตาย
นี่จากสองกระทรวงที่ต่างกันสุดขั้ว
ทหารกับพลเรือน (รู้ๆกันอยู่แล้ว)
ก็ต้องใช้เวลาขับเคี่ยว(ขับไล่) กันเยอะทีเดียว
ถึงกระนั้น ปตท. ก็ยังไม่สามารถติดอันดับบริษัทน้ำมันในดวงใจได้
แน่นอนครับ
มุมมองการทำงานจากหน่วยงานทหารกับข้าราชการ
จะประสานเป็นหน่วยงานธุรกิจได้อย่างไร

กระทั่งได้คนจากบริษัทน้ำมันฝรั่งเข้ามาทำงานแทน
(ไม่บอกอีกแหละว่าใคร)
เปลี่ยนระบบทุกอย่างจากการเรียนรู้ในบริษัทฝรั่ง
ปรับปรุงประสิทธิภาพคนทำงาน รับคนใหม่เข้ามาเพราะกระตือรือร้นกว่า
หาทางเอาคนเก่าเข้ากรุซะ เพราะอยู่ก็คอยขัดขวางการทำงาน
(และพยายามหาทางกิน...ไม่ใช่น้ำมันนะ)
ทั้งนี้ทั้งนั้นที่ทำได้ เพราะผู้ใหญ่ปล่อยเต็มที่
หลังจากเห็นสภาพการทำงานเดิมๆที่ไม่ไปไหน
บรรดาบริษัทน้ำมันฝรั่งก็หัวเราะเย้ยไยไพ
พนันทุกวันว่าเมื่อไหร่จะล่ม....เว๋ยเว๋ย
พนักงานเลยเกิดแรงฮึด ร่วมใจกันทำงานการใหญ่
ปตท.ค่อยๆเริ่มขับเคลื่อนได้ในทิศทางที่ต้องการ 
( ระบบเงินเดือนและผลตอบแทนก็ถูกปรับขึ้นแม้เทียบไม่ได้กับฝรั่ง 
แต่อย่างน้อยก็ไม่ถูกซื้อตัวไปง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อน) 

เออ...เขียนมาตั้งนาน เพราะอยากจะบอกว่า
ลำพังตัวองค์กรเดี่ยวๆในตอนต้นๆอาจจะแข่งขันไม่ได้เต็มที่
แต่ด้วยนโยบายที่ถือหุ้นในบริษัทน้ำมันและพลังงานต่างชาติ(เสมือนเป็นเสือนอนกิน)
จึงมีเงินเข้ามาช่วยค้ำจุนองค์กร
แต่เงินอย่างเดียวไม่พอหรอกที่จะทำให้องค์กรไต่ขึ้นมา
ต้องมีคนที่ทำงานเก่งข้างในด้วย ระบบที่มั่นคง
ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนรัฐวิสาหกิจอื่นๆที่ผูกขาดกิจการ
แล้วทุกวันนี้เป็นอย่างไรล่ะ...

ปัญหาของ ปตท.ระยะหลัง
คือองค์กรที่ขยายโตเร็วมาก ชักอุ้ยอ้าย
และกลายเป็นแหล่งทำมาหากินของนักการเมือง
สังเกตดูผู้ว่า ปตท.ที่เกษียณ หมดวาระ
ต้องไปดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี
ผู้ว่าปัจจุบันก็เช่นกัน..ขอเดา

ซึ่งไม่ว่ากันหรอก หากตราบใดที่ทำงานได้โปร่งใส
และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติกับประชาชนจริงๆ

ที่เขียนมาไม่ได้ทั้งสนับสนุนหรือคัดค้านการฟ้องศาล
เพียงแต่สะกิดความทรงจำเรื่อง "ปั๊มสามทหาร" เท่านั้น
ในฐานะผู้ที่อยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยน ปตท.

เคยไปสาธิตการใช้ก๊าซหุงตุ้ม ปตท.กับชาวบ้านรากหญ้า
สมัยที่รณรงค์ใช้ก๊าซแทนถ่าน สนุกมากและโหด มัน ฮา
เสี่ยงตายในแดนสีชมพู
ถ้าอยากรู้ ว่างๆจะเล่าให้ฟัง

เครดิตโดย: กูรูขอบสนาม