ปตท. เปิดใจเคลียร์ปมร้อนข้อกล่าวหาผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้บริหาร ปตท. ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เปิดใจ เคลียร์ปมร้อน ข้อกล่าวหาผู้ตรวจการแผ่นดิน



• จากประเด็นที่ นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า มีอดีตประธาน บมจ.ปตท. เขียนจดหมายข่มขู่ส่วนตัวถึงตน ซึ่งมีเนื้อหาขอให้หยุดหาเรื่องตรวจสอบ ขุดคุ้ยประเด็นของ บมจ.ปตท. คืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบ ทาง บมจ.ปตท. ได้ทำการตรวจสอบดูแล้วไม่พบว่ามีใครกระทำในลักษณะเช่นที่กล่าวมา หรืออาจจะตรวจสอบดูไม่หมดก็ได้ เพราะที่ผ่านมา ปตท. มีประธานกรรมการหลายคน แต่สิ่งที่ตรวจพบคือ จดหมายอย่างเป็นทางการจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ซึ่งในขณะนั้นคือ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นจดหมายชี้แจง ว่า บมจ.ปตท. ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทาง บมจ.ปตท. เองก็อยากรู้เช่นกันว่า อดีตประธาน บมจ.ปตท. ที่เขียนจดหมายส่วนตัวส่งไปนั้นคือใคร

• จากประเด็นที่คณะของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ฟ้องร้อง บมจ.ปตท. นั้น เป็นเรื่องที่ซ้ำซากและวกวน โดยคดีที่ น.ส.รสนา และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องเมื่อปี 2549 เป็นเรื่องของการเพิกถอนการแปรรูป บมจ.ปตท. ซึ่งเหมือนกับที่ได้ทำกับ กฟผ. มาแล้ว ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาออกมาแล้วเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 50 ว่า ไม่เพิกถอนการแปรรูป บมจ.ปตท. แต่ให้มีการแก้ไข โดยการโอนที่ดินบางส่วนที่ได้มาจากการริดรอนสิทธิที่ดินเอกชนและใช้เงินของรัฐ ในสมัยที่ บมจ.ปตท. ยังเป็นการปิโตรเลียมอยู่คืนให้กับรัฐ ส่วนท่อก๊าซฯ ศาลตัดสินว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องมีการคืนบางส่วนไปด้วย นอกจากนี้ ยังให้มีการคืนอำนาจมหาชนที่อยู่ใน บมจ.ปตท.

• ศาลได้มีการวินิจฉัยแล้วว่า การคืนทรัพย์สินของ บมจ.ปตท. ถูกต้องแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 51 และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 59 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยออกมา ว่า คดีท่อก๊าซฯ ที่ น.ส.รสนาไปยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อปี 2558  นั้น บมจ.ปตท. ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ส่งคืนท่อก๊าซฯ ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว แต่หลังจากที่ตรวจสอบดูสำนวนคำฟ้องของ น.ส.รสนา แล้วพบว่า มีการแนบหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ระบุว่า บมจ.ปตท. ยังคืนท่อก๊าซฯ ไม่ครบ ยังเหลือท่ออีก 68,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้คืน แต่คืนไปแล้ว 15,000 ล้านบาท ยังเหลืออีก 53,000 ล้านบาท หลังจากที่ศาลตัดสินได้ 3 วันนั้น ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และมีการนำข้อมูลที่ น.ส.รสนายื่นฟ้อง บมจ.ปตท. เมื่อปี 2558 มายื่นฟ้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง

• ท่อก๊าซฯ ทั้งหมดที่ บมจ.ปตท. มีเท่าไรนั้น ศาลได้รับข้อมูลทั้งหมดในช่วงการพิจารณาคดีตั้งแต่ปี 2549-2550 นอกจากนี้ ศาลยังทราบดีว่า บมจ.ปตท. มีอำนาจในการกำหนดเขตที่จะวางท่อก๊าซฯ ตาม พ.ร.บ. แต่การกำหนดเขตวางท่อก๊าซฯ ของ บมจ.ปตท. ไม่ใช่การรอนสิทธิ์ที่ดินของเอกชน ไม่ใช่การเวียนคืนที่ดินทุกแนวท่อ เพราะไม่ได้ใช้เงินของรัฐทุกแนวทาง จากข้อมูลที่ สตง. ได้ยืนยันมาตลอดก่อนหน้านี้ คือ ประเด็นที่ บมจ.ปตท. ยังได้คืนท่อก๊าซฯ ในทะเล ซึ่งไม่ใช่มูลค่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งมีความไม่ตรงกันกับข้อมูลของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

• อย่างไรก็ตาม บมจ.ปตท. จะคืนท่อก๊าซฯ หรือไม่ หรือคืนแค่ไหนนั้น ก็ควรยึดตามคำวินิจฉัย คำพิพากษาของศาล บมจ.ปตท. ไม่สามารถที่จะปฏิบัติอย่างอื่นได้ นอกจากนี้ในข้อตกลงระหว่าง บมจ.ปตท. และกรมธนารักษ์ในเรื่องการโอนที่ดินและท่อก๊าซฯ มีการเขียนไว้ว่า หากมีที่ดินและท่อก๊าซฯ บางส่วนที่ยังไม่ได้คืน สามารถบังคับให้คืนในภายหลังได้ และ บมจ.ปตท. ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัด จะปฏิบัติเกินกว่าคำสั่งศาลไม่ได้

• กรณีนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวหาว่า คณะกรรมการ บมจ.ปตท. มีผลประโยชน์ทับซ้อน และรายได้ปีละหลายล้านบาทนั้น สาเหตุที่มีข้าราชการนั่งเป็นกรรมการ บมจ.ปตท. หลายท่าน เนื่องจาก บมจ.ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ โดย ก.คลัง ถือหุ้น 51% และกองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้นอีก 14.9% ข้าราชการ ก.พลังงาน ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายด้านพลังงาน และยังทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นของรัฐในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอย่าง บมจ.ปตท. ดังนั้น ตนจึงมองว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะต้องมีข้าราชการของ ก.พลังงาน หรือ ก.คลัง เข้ามาเป็นกรรมการ บมจ.ปตท. หรือกิจการอื่นๆ ของรัฐที่รัฐบาลถือหุ้นในฐานะผู้ถือหุ้น

• ที่ผ่านมา ก.พลังงาน ได้พิจารณาจัดสรรไม่ให้ข้าราชการของ ก.พลังงาน เข้ามาเป็นกรรมการของ บมจ.ปตท. ในตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการของ บมจ.ปตท. เช่น ให้ใบอนุญาตตั้งสถานีบริการน้ำมัน หรือการกำหนดราคา และไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตำแหน่งข้าราชการใน ก.พลังงาน

• กรณีข้อกล่าวหาที่ระบุว่า ในปี 2557 กรรมการ บมจ.ปตท. ได้รับค่าตอบแทนประมาณ 4.7 ล้านบาทนั้น จากการที่ตนได้ไปตรวจสอบข้อมูลพบว่า ไม่เป็นความจริงอย่างที่มีการกล่าวหา โดยในปี 2557 กรรมการ บมจ.ปตท. ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ย 2.9 ล้านบาท และในปี 2558 ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ย 1.7 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ถือว่า กรรมการ บมจ.ปตท. ไม่ได้มีค่าตอบแทนสูงแต่อย่างใด

กรณีมีรายชื่อ นอมินี ในทะเบียนผู้ถือหุ้นของ บมจ.ปตท. นั้น ถือเป็นเรื่องปกติของผู้ลงทุนต่างชาติที่เป็นกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เมื่อมาลงทุนในต่างประเทศก็จะให้ธนาคารต่างๆ เป็นตัวแทนจัดการผลประโยชน์ ด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวก ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ในกองทุนนั้นๆ มีใครบ้าง จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีนักการเมืองถือหุ้น บมจ.ปตท. ผ่านกองทุนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับของบริษัทชั้นนำอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ของ บมจ.ปตท. ถือว่ามีน้อยมาก

กรณีข้อกล่าวหาที่ระบุว่า บมจ.ปตท. ยักยอกเงินกองทุนน้ำมันฯ มาอุดหนุนกำไรให้กับ บมจ.ปตท. นั้น ตนขอชี้แจงว่า นโยบายด้านพลังงาน และการกำหนดราคาพลังงาน เป็นอำนาจของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะใช้กลไกต่างๆ ในการควบคุม เช่น การใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยค่าขนส่ง เพื่อให้ราคาก๊าซแอลพีจีในแต่ละพื้นที่มีราคาเท่ากัน โดย บมจ.ปตท. ไม่ได้รับกำไรจากการอุดหนุนค่าขนส่งส่วนนี้แต่อย่างใด