จากสามทหารสู่ปตท.(2)

จากสามทหารสู่ปตท.(2)



เอ้า ม่านเปิดฉากแล้ว 
ละครย้อนอดีตก๊าซ ปตท. 
หมายเหตุ พนักงานหรือคนทำงานปตท. ปัจจุบันอาจจะแสลงใจเล็กน้อย 
แต่ขอให้คิดเสียว่านั่นเป็นอดีตกาลนานนมกาเลไปแล้ว 

เมื่อประมาณปี 2526 แถวๆนั้น 
ปตท. หลังจากที่รวมหน่วยงาน 2 แห่งดังที่กล่าวเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว 
พร้อมปัญหารอยเชื่อมสนิมที่ไม่สนิทอีรุงตุงนังในหมู่พนักงาน 
องค์กรก็ประกาศเดินหน้าพัฒนาธุรกิจใหม่ๆนั่นก็คือ ก๊าซหุงต้ม ปตท. 

ตลาดก๊าซหุงต้มขณะนั้นต้องยกให้เชลล์ ตราหอย 
เพราะอยู่ในตลาดมาก่อน ทำการตลาดต่อเนื่อง 
ที่สำคัญทำป้ายเชลล์ชวนชิม ติดหนึบหนับในหมู่นักโภชนาการ 
ไปร้านไหนมีกอเอี้ยะ..เอ๊ย ไม่ใช่ แผ่นป้ายนี้ รับรองลูกค้าตรึม 
(ระยะหลังๆเลยเกิดกิจการซื้อแผ่นวิเศษนี้กันขึ้น จริงไม่จริงต้องไปถามหม่อม..) 

เห็นดังนี้แล้ว ปตท.หรือจะน้อยหน้า 
อาศัยพี่หอยกรุยทาง ให้ความรู้ผู้บริโภคถึงการประกอบอาหารในครัวเรือนด้วยก๊าซหุงต้มไปแล้ว 
น้องปอก็ขอแค่ตามติด แต่..ไม่มีช่องว่างเหลือแล้วนี่หว่า 
โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล 
กระนั้นเลย คงต้องออกไปหากินหัวเมืองแทน 
ไหนๆเราก็มีปั๊มน้ำมันอยู่เยอะแยะ ตาแปะไก่ ไม่แพ้น้ำมันหอย 
ก็เป็น Outlet ให้เติมก๊าซไปในตัวดีกว่า 

แต่ปัญหาของชาวต่างจังหวัดก็คือ ก๊าซเป็นเรื่องใหม่ 
ยุ่งยาก วุ่นวาย และแพง 
สู้ใช้ถ่านไม้เดิมๆดีกว่า หาก็ง่าย เข้าป่าไปแป๊ปเดียว 
เผาๆคุๆก็ระอุเอามาใช้งานได้แล้ว 
ไม่ต้องขนถังไปเติมนอกหมู่บ้าน 
ขนไปขนมาเปลืองน้ำมันอีกต่างหาก 

ขณะนั้น กูรูเพิ่งวัยละอ่อน ทำงานอยู่บริษัทวิจัยและพัฒนา 
ซึ่งไป sub contract ปตท. มาอีกต่อ 
ถึงไม่ใช่พนักงานโดยตรง ก็ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับคน ปตท. 
จนต้อง...เฮอ..นึกภาพอนาคตไม่ออกเลยกับองค์กรนี้ 
(ขอย้ำเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว) 

แผนการการรณรงค์ใช้ก๊าซ เริ่มด้วย Pilot Project ก่อน 
คลี่แผ่นที่แล้วจิ้มดูว่ามีสถานีใหญ่ของ ปตท.ที่ไหนบ้าง 
ปรากฏเป็นที่ ลำปาง ขอนแก่น สุราษฎร์ และนครสวรรค์ 
แล้วเราก็เริ่มแพ็คของออกเดินทางไปตามหมู่บ้านรอบนอกของจังหวัดต่างๆเหล่านี้ 

สิ่งที่หน่วยสาธิตต้องทำก็คือ ทำ Event Marketing ย่อมๆ 
ขับรถตระเวณไปจุดสาธิตซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตลาด ชุมชน 
เป่าโทรโข่งเรียกชาวบ้านชาวช่องมาดูมหัศจรรย์บันเทิง 
การใช้ก๊าซหุงต้มประกอบอาหาร 
สะดวก สะอาด ปลอดภัยอย่างไรเป็นต้น 
ใบปลิวก็แจกไป คนพูดก็พูดไป 
แรงงานที่เหลือก็ยกหม้อ(อาหาร)ของชาวบ้านมาอุ่นร้อนบนเตา 
ให้เห็นว่าดีแค่ไหน 
ผลปรากฏ ชาวบ้านชอบใจที่ได้อุ่นอาหารฟรีๆ 
แล้วก็กลับไปดำเนินกิจกรรมต่อ ไม่สนใจก๊าซอะไรทั้งสิ้น 

ทำอย่างนี้สักพัก ชักไม่ไหว 
รอบเดียวก็เกินพอ รอบต่อมาชาวบ้านหายหด 
ต้องหาอุปกรณ์เสริมอื่นๆเช่น เล่นเกมส์ตอบปัญหา ร้องเพลง 
เปิดมินิคอนเสิร์ต เป็นต้น 
ชะวุ้ย กูรูก็ได้เป็นศิลปินหางเครื่องกับเขาคราวนั้นนั่นแหละ 
ตอนนั้น เพลง เหล้าจ๋า กับหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ ฮิตมากๆ 
ทำอย่างนี้ไปแทบทุกพื้นที่ จนคนจำหน้าได้ 
บ่ายวันหนึ่ง วันอาทิตย์ ไปสาธิตตามที่นัดหมายไว้ ปรากฏเงียบฉี่ 
ไม่มีใครออกมาเลย ถามไปถามมาถึงบางอ้อ..ทุกคนติดดูมวยกันอยู่ 
ตะโกนเรียกเสียงแหบแห้งแค่ไหน ก็อยู่ตรงนั้นแหละ จ๋อยเลย 

แต่การลงพื้นที่นี่ชอบจริงๆ 
ได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้านรากหญ้าว่าอยู่อย่างไร 
บางบ้านถึงกับเด็ดมะละกอดิบบนต้น มาตำส้มตำแซ่บๆให้กินกันเดี๋ยวนั้นเลย 
เออ..กูรูเปิบส้มตำไป ในใจก็คิดว่า 
แล้วกรูจะมาให้พวกบักเพื่อนเหล่านี้ใช้ก๊าซทำไม 
อาหารพื้นบ้านของพวกเขาอย่างส้มตำ ยำ น้ำพริกก็ไม่ต้องใช้ก๊าซเลย 
ข้าวเหนียวก็นึ่งใช้เศษกิ่งไม้แห้งๆง่ายๆ 
วันๆแทบไม่ต้องใช้เงินเล้ย 
ฮืมม์ ไม่เป็นไร บอกตัวเอง ไม่ใช้วันนี้ วันหน้าอาจจะใช้ 

เพื่อนร่วมทีมของเรามีทั้งส่วนบริษัทที่กูรูสังกัด 
และเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานของ ปตท.สายตรง 
แรกๆก็เขอะๆเขินๆ สงวนท่าที 
ต่อเมื่อร่วมกินส้มตำครกเดียวกันหลายมื้อก็เป็นพี่น้องร่วมสาบาน(ต่อหน้าครกสัมตำ)กันในไม่ช้า 
ลุยไหน ลุยนั่น และก็เห็นปัญหาว่า 
สงสัยธุรกิจก๊าซยังอีกไกล ในที่ไกลปืนเที่ยงเช่นนี้ 
แต่ระดับผู้ตรวจการซิ ชาตินี้...ไม่ขอสาบานด้วยหรอก 
ต่อให้กินส้มตำครกเดียวกันกี่ครกก็เถอะ 

ตามแผนงานทุก Site จะมีผู้ตรวจการระดับอาวุโส(หน่อยๆ)มาดูทีมงานทำงาน 
และก็เป็นเช่นผู้ตรวจการราชการที่มาถึงปุ๊ป หาข้อบกพร่องทุกอย่าง 
ทำไมไม่ทำอย่างโน้น ไม่ทำอย่างนี้ ทำงานเป็นหรือเปล่า 
เสร็จแล้ว คุณๆท่านๆก็ไปจิบเบียร์ในสวนอาหารตั้งแต่บ่าย จนค่ำก็...เหล้า 
ใครจ่าย...ไม่มีทางหรอกที่คุณท่านทั้งหลายจะจ่ายเอง โน่นให้ทีมงานจ่าย 
หรือถ้าผู้ใหญ่ของกูรูมาด้วย กระเป๋าหนักหน่อยก็จ่ายให้ 
เป็นเช่นนี้ทุกที่ไป 
มีครั้งหนึ่ง เกี่ยง...ไม่ยอมจ่ายกัน 
(กูรูเป็นผู้น้อย ไม่สมควรจะหักหน้าใคร) 
คนขับรถทนไม่ไหว ควักตังค์ออกมาจ่ายให้เห็นๆ 
มารู้ทีหลังว่า เป็นเบี้ยเลี้ยงทั้งหมดที่ตัวเองตกเบิกมา 
(กลับไป โดนคนที่บ้านบิดหูชาแน่) 

เมื่อกลับมากรุงเทพฯก็มีการรายงานถึงความล้มเหลวในการรณรงค์ 
จนทีมงานกันเองเกือบจะต่อยหน้ากันในห้องประชุมต่อหน้าผู้ใหญ่ 
แห่ะ แห่ะ โชคดีกูรูไม่ได้อยู่ ด้วยอาวุโสไม่ถึง 
ไม่งั้นต้องทำตัวเป็น “บ่าง” ยุยงให้แตกกว่านี้ 
พร้อมกับนึกไม่ออกเลยว่า ใครจะอยู่ทำงานที่นี่ไหว 
เพื่อนๆ ปตท.ที่ร่วมทริปก็จะออกกันหมดแล้วไปอยู่ตราหอย กับ เสือในถัง 

เอาล่ะ นั่นเป็นเรื่องของคนในองค์กรเขา 

มาดูเรื่องตื่นเต้นสนุกๆดีกว่า 
ครั้งหนึ่งต้องลงไปสุราษฎร์ เขตสีชมพู 
เจ้านายถาม กล้าไปหรือเปล่า 
เออ...จะตอบว่ากระไรดี ถ้าเราไม่ไป คนอื่นก็ต้องไป 
เป็นลูกจ้างเขาก็อย่างนี้แหละ บอกให้ไปตายเอ๊ยลุยที่ไหนก็ต้องไป 
ไปถึงหมู่บ้าน ทำการสาธิตเสร็จก็โพล้เพล้ รีบกลับดีกว่า 
เพราะรถที่ขับก็มีตรา ปตท. ไม่ปลอดภัยแน่ๆถ้าอยู่ในเขตนี้ 
คนรถบอกมีทางลัด ออกจากเขตได้เร็วกว่า 
ขับไปขับมา หลงทาง ฟ้าก็มืด รถยังวนเวียนอยู่ในป่า 
ถามชาวบ้าน บอกให้ขับตรงไปจะเจอสะพานข้ามออกลัดสู่ถนนใหญ่ได้ 
เฮอ โล่งใจ 
แต่ประทานโทษ พอขับใกล้เข้ามา เจ้าสะพานที่เห็นน่ะ 
แค่ท่อนซุง 2 ท่อนวางแปะอยู่ 2 ฟากฝั่ง 
มองไปข้างล่าง....เหว ครับพี่ 

ทุกคนมองหน้ากัน หน้ามอมๆซีดเผือดไปหมด หายง่วงงุนทันที 
คิดสาระตะ..เอาฟะ เสี่ยงเป็น เสี่ยงตาย ดีกว่าถูกฝังในป่า 
ทีมงานลงจากรถ แสร้งหัวเราะให้กำลังใจ 
กลั้นหายใจ เดินไต่ซุงทดสอบน้ำหนักทีละคนๆ 
จนข้ามไปฝั่งตรงข้ามได้ พอไหวน่า... 
หันไปชูนิ้วโป้งให้คนขับ 
คนขับรถขอสูบบุหรี่มวนหนึ่ง เรียกความมั่นใจ 
แล้วสตาร์ทเครื่องค่อยๆไต่ซุงทั้ง 2 ท่อนอย่างช้าๆ 
ท่ามกลางเสียงไม้ปะทุแคระ แคระ.. 
บางคนในทีมงานมาบอกทีหลังว่า แอบสวดมนต์อรหันต์ สัมมาอยู่ในใจ 
จนในที่สุดล้อที่สี่ก็หลุดออกมาซุงมาอยู่บนอีกฝั่งได้ 
คืนนั้นพวกเราเลี้ยงฉลองกันยกใหญ่ 

หลังจากจบ Pilot Project ซึ่งกินเวลาประมาณปีกว่าๆ 
โครงการก็สิ้นสุดลง ปตท.เริ่มจำหน่ายก๊าซทั่วประเทศ 
ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกะจิดริด 
ตราหอย ยักษ์ผู้พี่เมินหน้ามามองแวบๆแล้วก็ไม่สนใจ 
ถึงวันนี้ ตราหอยก็หายไปแล้ว 
และผู้ที่ถูกทิ้งห่างปลายแถวอย่างปตท. กลับผงาดขึ้นมาแทน 

แน่ล่ะบุคคลากรยุคเก่าๆก่อนพวกเจ้าขุนมูลนายก็น่าจะหายไปด้วย 

แต่กูรูยังไม่หายคร้าบ... 
ซุง 2 ท่อนในป่าลึกเขตสีชมพู นำพาให้กูรูรอดมาได้ 
มาเขียนเรื่องเล่าให้พวกเราฟังอยู่ได้ถึงวินาทีนี้

เครดิตโดย: กูรูขอบสนาม