จากสามทหารสู่ ปตท.(1)

จากสามทหารสู่ ปตท.(1)

เผอิญไปเจอกระทู้หนึ่งพูดถึงอดีตของปั๊มน้ำมัน ปตท. คือ ปั๊มสามทหารเก่าๆโทรมๆ
ก่อนจะมาเป็น ปตท. วันนี้ ลองค้นหารูปมาประกอบ ไม่ทราบจะโหลดหรือเปล่า
เอ้า ลองดูครับ



หมายเหตุ ในรูปนี้ ปั๊มถูกบูรณะใหม่ให้เป็นกึ่งพิพิธภัณฑ์เลยดูสดใสเหมือนร้านสะดวกซื้อ


เออ เลยนึกขึ้นได้เราก็อยู่ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงด้วยนี่นา
ขอมาเล่าบ้าง อันนี้ไม่เกี่ยวกับกรณีพิพาทใดๆในชั้นศาลทั้งสิ้น
เริ่มเลยนะคร้าบ...

"สามทหารไทย สามทหารไทย ไตรรงค์ยิ่งใหญ่ในแหลมทองไทย ชาวบ้านก็ไทย คนใช้ก็ไทย..."จำไม่ได้แล้ว กระท่อนกระแท่นเต็มที แต่ฟังๆดู ไม่ค่อยเป็นเพลงปั๊มน้ำมันเลยนะ 

แต่เอาเถอะ ความยิ่งใหญ่ของ ปตท. เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล พลเอก เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี
ที่ริเริ่มโครงการพลังงานเพื่อไทย (ทั้งๆทีองค์กรเกิดขึ้นในสมัย 2521 รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์)
เด็กๆเราคงจำกันได้ถึงสโลแกน "โชติช่วงชัชชวาล พลังงานบริสุทธิ์จาก ปตท" เสียงจากคุณจ้อ...โฆษกคนเก่ง พิชัย วาสนาส่ง อยากรู้มั๊ยว่าใครเป็นคนคิด...ไม่บอกหรอก
แข่งกับสโลแกนของบริษัทน้ำมันฝรั่งตอนนั้น 
ทั้งไปได้สวย ไปด้วย"เชลล์" 
"เอสโซ่" จับเสือใส่ถังพลังสูง 
"คาลเท็กซ์" ไปไกลกว่า รักษาเครื่อง ไม่เปลืองเงิน

การขยายการลงทุนมหาศาลของ ปตท. ขณะนั้น จะว่าไปก็เป็นกุศโลบายทางการเมืองด้วย เพื่อยืนยันเศรษฐกิจที่ยังเข้มแข็งในเมืองไทย เพราะขณะนั้น กลัวโดมิโน Effect กันมากในแถบอินโดจีน
อาศัยความเป็นรัฐ ปตท.เลยสามารถเข้าไปถือหุ้นในกิจการน้ำมันต่างๆของต่างชาติได้
ลำพังตัว ปตท.เองโดดๆอาจจะแข่งขันลำบาก หรือไม่ก็ปรับตัวได้ไม่ไวเท่า เพราะอย่างไรเสียฝรั่งอย่างเชลล์ คาลเท๊กซ์ เอซโซ่ มีเทคโนโลยีใช้ก่อนหน้าอีกทั้งระบบก็แข็งปึกมาเป็นสิบๆปี

แรกทีเดียว คนปตท.กว่าจะกลมกลืนกันได้ก็แทบจะบู๊กันจะจะ
เพราะเป็นการรวมคนจาก 2 หน่วยงานเข้าด้วยกัน
คือ องค์การเชื้อเพลิงซึ่งสังกัดกรมการพลังงานทหาร
และองค์การก๊าซธรรมชาติ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
แค่คนในกระทรวงเดียวกันก็ยังจะทะเลาะจะเป็นจะตาย
นี่จากสองกระทรวงที่ต่างกันสุดขั้ว
ทหารกับพลเรือน (รู้ๆกันอยู่แล้ว)
ก็ต้องใช้เวลาขับเคี่ยว(ขับไล่) กันเยอะทีเดียว
ถึงกระนั้น ปตท. ก็ยังไม่สามารถติดอันดับบริษัทน้ำมันในดวงใจได้
แน่นอนครับ
มุมมองการทำงานจากหน่วยงานทหารกับข้าราชการ
จะประสานเป็นหน่วยงานธุรกิจได้อย่างไร

กระทั่งได้คนจากบริษัทน้ำมันฝรั่งเข้ามาทำงานแทน
(ไม่บอกอีกแหละว่าใคร)
เปลี่ยนระบบทุกอย่างจากการเรียนรู้ในบริษัทฝรั่ง
ปรับปรุงประสิทธิภาพคนทำงาน รับคนใหม่เข้ามาเพราะกระตือรือร้นกว่า
หาทางเอาคนเก่าเข้ากรุซะ เพราะอยู่ก็คอยขัดขวางการทำงาน
(และพยายามหาทางกิน...ไม่ใช่น้ำมันนะ)
ทั้งนี้ทั้งนั้นที่ทำได้ เพราะผู้ใหญ่ปล่อยเต็มที่
หลังจากเห็นสภาพการทำงานเดิมๆที่ไม่ไปไหน
บรรดาบริษัทน้ำมันฝรั่งก็หัวเราะเย้ยไยไพ
พนันทุกวันว่าเมื่อไหร่จะล่ม....เว๋ยเว๋ย
พนักงานเลยเกิดแรงฮึด ร่วมใจกันทำงานการใหญ่
ปตท.ค่อยๆเริ่มขับเคลื่อนได้ในทิศทางที่ต้องการ 
( ระบบเงินเดือนและผลตอบแทนก็ถูกปรับขึ้นแม้เทียบไม่ได้กับฝรั่ง 
แต่อย่างน้อยก็ไม่ถูกซื้อตัวไปง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อน) 

เออ...เขียนมาตั้งนาน เพราะอยากจะบอกว่า
ลำพังตัวองค์กรเดี่ยวๆในตอนต้นๆอาจจะแข่งขันไม่ได้เต็มที่
แต่ด้วยนโยบายที่ถือหุ้นในบริษัทน้ำมันและพลังงานต่างชาติ(เสมือนเป็นเสือนอนกิน)
จึงมีเงินเข้ามาช่วยค้ำจุนองค์กร
แต่เงินอย่างเดียวไม่พอหรอกที่จะทำให้องค์กรไต่ขึ้นมา
ต้องมีคนที่ทำงานเก่งข้างในด้วย ระบบที่มั่นคง
ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนรัฐวิสาหกิจอื่นๆที่ผูกขาดกิจการ
แล้วทุกวันนี้เป็นอย่างไรล่ะ...

ปัญหาของ ปตท.ระยะหลัง
คือองค์กรที่ขยายโตเร็วมาก ชักอุ้ยอ้าย
และกลายเป็นแหล่งทำมาหากินของนักการเมือง
สังเกตดูผู้ว่า ปตท.ที่เกษียณ หมดวาระ
ต้องไปดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี
ผู้ว่าปัจจุบันก็เช่นกัน..ขอเดา

ซึ่งไม่ว่ากันหรอก หากตราบใดที่ทำงานได้โปร่งใส
และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติกับประชาชนจริงๆ

ที่เขียนมาไม่ได้ทั้งสนับสนุนหรือคัดค้านการฟ้องศาล
เพียงแต่สะกิดความทรงจำเรื่อง "ปั๊มสามทหาร" เท่านั้น
ในฐานะผู้ที่อยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยน ปตท.

เคยไปสาธิตการใช้ก๊าซหุงตุ้ม ปตท.กับชาวบ้านรากหญ้า
สมัยที่รณรงค์ใช้ก๊าซแทนถ่าน สนุกมากและโหด มัน ฮา
เสี่ยงตายในแดนสีชมพู
ถ้าอยากรู้ ว่างๆจะเล่าให้ฟัง

เครดิตโดย: กูรูขอบสนาม